จากกรณีมีหญิงสาวรายหนึ่งโพสต์เล่าเหตุการณ์ประสบการณ์เฉียดตายของครอบครัว ผ่านสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา ช่วงเวลาประมาณ 18.52 น. สามีชาวออสเตรเลียวัย 34 ปี ผู้บริหารระดับสูงค่ายรถยนต์แห่งหนึ่ง ที่เมืองเมลเบิร์น ประสบเหตุถูกพัดลมในสระน้ำคอนโด ′ดิ แอดเดรส อโศก’ ดูดจนขยับตัวไม่ได้ นานเกือบ 20 นาที ก่อนตะโกนขอความช่วยเหลืออย่างดังสุดเสียง
กระทั่งสามารถดึงตัวออกมาได้ด้วยตนเอง จากนั้นจึงพบว่ามีรอยไหม้เกรียมที่ด้านหลังอย่างรุนแรง ก่อนภรรยาจะเรียกวินรถจักรยานยนต์ นำส่งโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านสุขุมวิท โดยหลังเกิดเหตุ ผู้โพสต์ ซึ่งเป็นภรรยาอ้างว่า นิติบุคคลไม่แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด (อ่านเรื่องราว อันตราย! สาวเตือนภัยแรงดูดจากพัดลมในสระน้ำ)
ภายหลังจากเกิดเหตุ ทางทีมช่างประจำคอนโดฯ ได้ตรวจสอบความผิดปกติของบ่อออนเซ็นที่เกิดเหตุอย่างละเอียด ทั้งระบบกระเเสไฟฟ้า และการทำงานของอุปกรณ์ทั้งหมด แต่ไม่พบความผิดปกติเเต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม พบขวดเบียร์ตกอยู่บริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ ซึ่งกฎระเบียบของการใช้สระว่ายน้ำนั้นนั้นระบุไว้อย่างชัดเจนว่า
“ห้ามนำอาหารเเละเครื่องดื่มขึ้นมาบริเวณสระว่ายน้ำ และกฎระเบียบของการพักอาศัยในอาคารชุดฯ แห่งนี้ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิในการใช้บริการส่วนกลาง ต้องเป็นเจ้าของร่วม หรือผู้เช่าระยะยาว หรือผู้ใช้สิทธิเเทนเจ้าของร่วมเท่านั้น”
เอกสารระบุต่อว่า “รปภ.ในที่เกิดเหตุแจ้งว่า ผู้ประสบอุบัติเหตุยังสามารถเดินได้ตามปกติ เเละขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังจะเข้าไปช่วยเหลือ ภรรยาผู้ประสบเหตุก็ตะโกนว่าอย่างรุนแรง และจะขอพบเจ้าของตึกอย่างเดียว เพื่อให้มาชดใช้ค่าเสียหาย จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลผู้ประสบเหตุได้”
ทั้งนี้ ตามเอกสารนั้นระบุว่าทางคอนโดฯ ไม่ได้มีเจตนาจะบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบเเต่อย่างใด แต่ทางบริษัทประกันนั้นต้องมีขั้นตอนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะชดเชยค่าเสียหาย แต่ทางผู้เสียหายก็ได้แจ้งว่า จะเดินทางกลับประเทศออสเตรเลียในวันที่ 1 ธ.ค. ทางคอนโดฯ จะแจ้งกลับไปว่า หากต้องการให้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ต้องมีการกรอกเอกสารตามระเบียบ
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ภรรยาผู้เสียหายนั้นเป็น “เพื่อน” ของเจ้าของห้องชุดฯ เเละจากกล้องวงจรปิด ขณะเกิดเหตุ ชายชาวออสเตรเลียได้นำเบียร์ขึ้นไปดื่มบนสระน้ำ ซึ่งผิดกฎระเบียบ
อีกทั้งลักษณะการบาดเจ็บนั้นมี 2 รอย ซึ่งใหญ่กว่าช่องระบายน้ำที่มีขนาด 20×25ซม. โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากอุปกรณ์ดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยหลังเกิดเหตุทาง นิติบุคคลได้ทำการทดสอบโดยให้ช่างประจำอาคารชุด เข้าไปนั่งในออนเซ็นบริเวณดังกล่าว ก็ไม่ได้มีแรงดูด ไม่มีพัดลมอยู่ภายใน ไม่มีกระแสไฟฟ้า และหากพิจารณาถึงอุณหภูมิของน้ำ หากมีความผิดปกติจะมีแผลไฟลวกผุผองทั้งตัว ไม่ใช่บาดเเผลที่ผู้ประสบเหตุเป็น