ถ้าใครมีความทรงจำแม่นยำสักหน่อยคงจำได้ว่า เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีข่าวลือกันสนั่นทั้งในเมืองไทยและเมืองนอกเมืองนา ว่าด้วยปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์เรียงตัว” ที่ว่ากันว่าก่ออันตรายใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นกับโลกถึงขนาด “สิ้นโลก” กันเลยทีเดียว
ตอนนี้ก็มีมาอีกแล้ว อาศัยเหตุการณ์เดียวกันบอกกันว่า ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เรียงตัวกันอีกแล้ว แต่คราวนี้เตือนว่าจะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นในวันเดียวกันนั้น เป็นแผ่นดินไหวใหญ่ระดับที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นให้เห็นกันบ่อยครั้งนัก คือที่ระดับ 9.8 ตามมาตราริกเตอร์
เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครหยิบมาลือกันในไทยเท่าใดนัก แต่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเมืองนอก เตือนเรื่องนี้กันตรึม จะด้วยความจริงใจหรือไม่ก็ไม่รู้ได้ หลายคนอาจยักไหล่ให้กับเรื่องนี้ แต่คนที่เชื่อก็เชื่อจนตื่นตระหนก
เรื่องนี้สะท้อนความจริงอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นคือ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด เป็นคนเชื้อชาติไหน ใช้ภาษาใด ก็มีธรรมชาติอย่างเดียวกันประการหนึ่งคือ กลัวในสิ่งที่เราไม่รู้
แต่ถ้าถามว่าในทางวิทยาศาสตร์ เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่สามารถเป็นจริงได้
เหตุผลมีอยู่หลายอย่างหลายประการ ตั้งแต่เรื่องข้อเท็จจริงพื้นๆ ที่ว่า วันที่ 28 พฤษภาคม ไม่ได้เกิดการเรียงตัวของดาวเคราะห์ทั้งหลาย รวมทั้งดวงอาทิตย์เป็น “เส้นตรง” จริงๆ เรื่อยไปจนถึงเหตุผลสำคัญที่ว่า แม้เกิดการเรียงตัวกันขึ้นจริงๆ ก็ไม่มีทางที่การเรียงตัวของดวงดาวจะส่งผลให้เกิดอิทธิพลใดๆ ขึ้นกับโลก
ผู้ที่ปล่อยข่าวเล่าลือในทำนองที่ฝรั่งเรียกกันว่า “สูโด-ไซนซ์” หรือ “วิทยาศาสตร์เทียม” ที่บ่อยครั้งกลายเป็นเรื่องที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ไปโดยสิ้นเชิงนี้ มักอ้างเอาว่า การเรียงตัวของดวงดาวก่อให้เกิด “พลังงาน” เพิ่มขึ้นมหาศาล แต่ไม่ยักบอกในรายละเอียดว่าพลังงานที่ว่านั้นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
แล้วก็บอกด้วยว่า การเรียงตัวกันทำให้ “แรงโน้มถ่วง” เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก พลังงานทั้งสองอย่างนี้แหละที่ใช้เป็นเหตุผลที่ว่า แผ่นดินไหวใหญ่แบบที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนจะเกิดขึ้นตามมา
โดยข้อเท็จจริงนั้น แม้ว่าจะเกิดการเรียงตัวของดาวเคราะห์เกิดขึ้นจริงตามอ้าง การเรียงตัวดังกล่าวก็สร้างแรงโน้มถ่วงที่จะส่งอิทธิพลต่อโลกน้อยมาก คือ “น้อยกว่า” อิทธิพลจาก แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ที่มีต่อโลกด้วยซ้ำไป
ข้อเท็จจริงอีกอย่าง ก็คือ แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ที่มีต่อโลกนั้น มีอิทธิพล “น้อย” จน “ไม่มีนัยสำคัญ” ต่อการเกิดแผ่นดินไหวของโลก
ดวงจันทร์นั้นอยู่ใกล้โลกมาก (380,000 กม.) ผลก็คือ แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ มีอิทธิพลต่อโลกมากกว่า ดาวเคราะห์ทุกดวงรวมกัน ถึงราวๆ 50 เท่าตัว เราเรียนกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า วงโคจรรอบโลกของดวงจันทร์นั้นมีลักษณะเป็นวงรี ดังนั้น ดวงจันทร์จึงจะเข้ามาอยู่ใกล้โลกมากที่สุดและไกลจากโลกมากที่สุด เดือนละ 2 ครั้ง เพราะดวงจันทร์ใช้เวลา 1 เดือนจึงโคจรรอบโลกครบ 1 รอบ
ถ้าหากแรงโน้มถ่วงที่เกิดจากการรวมตัวของดาวเคราะห์ทุกดวงทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่บนโลกได้จริงดวงจันทร์ก็ต้องทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่กว่า(อย่างน้อยก็เกือบ50 เท่าตัว) ให้เกิดกับโลกได้ 2 ครั้งในทุกๆ เดือน
ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริง!
การคิดแบบวิทยาศาสตร์ การตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยอย่างเป็นเหตุเป็นผลในเชิงวิทยาศาสตร์ ช่วยขจัดความกลัวที่เกิดจากความไม่รู้ของคนเราได้ชะงัด
นั่นคือความงดงามของวิทยาศาสตร์นั่นเอง