ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวต่างประเทศน่าสนใจชิ้นหนึ่งรายงานว่า ในเมืองเอียร์วิลล์ ประเทศออสเตรเลีย เกิดเหตุการณ์ประหลาดพบ “งู” ใช้ปากกัดและฝังเขี้ยว พร้อมพ่นพิษใส่คอของมันเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า งูตัวนี้กำลังปลิดชีวิตตัวเอง คาดว่าอาจเป็นเพราะมันต้องการรักษาอาการบาดเจ็บ

เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นความจริงหรือไม่ ต่อมความสงสัยกระตุกขึ้นมาทันที และหลายคนพยายามหาคำตอบว่า…เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นได้จริงๆ หรือ??? และเหตุใด “งู” ถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ !!!

11.jpg

สอบถามไปยังสวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ต่อประเด็นดังกล่าวว่า เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ได้รับคำตอบจาก “สัตวแพทย์หญิง ดร.ลาวัณย์ จันทร์โฮม” หัวหน้าสวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ว่า…หากอ้างอิงตามรายงานข่าวดังกล่าว

สันนิษฐานว่า เป็นลักษณะของอาการป่วยทางระบบประสาท หรือระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อจากไวรัส หรือแบคทีเรีย ก่อให้เกิดอาการชัก บิดตัว หมุนวน และขากรรไกรค้าง จนเกิดการงับ…โดยไม่เลือกที่ ซึ่งบังเอิญไปงับลำตัวของตัวเอง

โดยในบางครั้งงับไม่ปล่อย เนื่องจากเป็นจังหวะขากรรไกรค้าง ซึ่งเป็นอาการป่วยระยะสุดท้าย กระทั่งเมื่อมนุษย์ไปพบเห็น จึงเข้าใจว่า งูกำลังกัดตัวเองเพื่อฆ่าตัวตาย กรณีแบบนี้…ไม่จำเพาะกับ “งู” เท่านั้น ในสัตว์อื่นๆ ก็สามารถเป็นได้เช่นเดียวกัน อย่าง “สุนัข” เมื่อมีอาการทางประสาท จะเห่า หอน กัดอะไรไม่เลือก

“ถ้างูป่วยทางระบบประสาท มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการชัก บิดตัว หรือกัด ซึ่งบังเอิญไปงับตัวเอง เพราะมีลำตัวที่ยาวเรียว ประกอบกับไม่รู้สึกตัวแล้ว โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคทางระบบประสาท คาดว่าน่าจะติดเชื้อ มีแนวโน้มเป็นไวรัส และแบคทีเรีย แต่ชนิดใดนั้น ไม่สามารถระบุได้ หากอยากทราบ จำเป็นต้องนำสัตว์มาผ่าเพื่อตรวจพิสูจน์”

12

 ดร.ลาวัณย์ ระบุว่า หากเป็นงูที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ยิ่งมีความยากในการตรวจสอบ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่า การดำรงชีวิตของงูเป็นอย่างไร ยกเว้นถ้าสนใจจริงๆ จึงนำส่งตรวจทางพยาธิสภาพ และดูระบบต่างๆภายในว่า มีรอยของโรคอะไรที่น่าสงสัยบ้าง

“ลักษณะของคำว่า ‘กัดที่คอ’ คาดว่างูไม่น่าจะเอี้ยวปากมากัดคอตัวเองได้ ตำแหน่งที่ถูกกัดและมีความเป็นไปได้ คือส่วนบนจาก 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว โดยจะมีสูตรนับเกร็ดคอ ซึ่งนับไล่จากส่วนหัวลงมาว่ามีกี่เกร็ด ทั้งงูชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ หรืองูขนาดใหญ่และขนาดเล็ก สามารถแสดงอาการเหล่านี้ได้ หากติดเชื้อดังกล่าว เนื่องจากเป็นกลุ่มอาการของโรค”

หัวหน้าสวนงู เผยอีกว่า หากงูชนิดที่มีพิษต่อสู้กันหรือกัดกัน มีสิทธิเสียชีวิตได้ โดยขึ้นอยู่กับพิษว่ามีความรุนแรงมากแค่ไหน และปริมาณมากเพียงใด ซึ่งในระบบเลือดของงูพิษ จะมีองค์ประกอบบางอย่างที่สามารถต่อต้านพิษของตนเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถต่อต้านได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นไปได้ว่าเกิดบาดแผลด้วยผลของพิษ ทำให้เกิดอาการบวม ติดเชื้อ และเหนี่ยวนำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

“งูมีโอกาสติดเชื้อได้หลายทาง อาจจะไปล่าเหยื่อแล้วเหยื่อป้องกันตัวเอง ต่างฝ่ายต่างสู้กัน แต่สภาพภูมิอากาศที่งูอาศัย ไม่ใช่ปัจจัยทำให้เกิดโรคทางประสาท ซึ่งพิษของงูแบ่งตามทางการแพทย์ แยกเป็นพิษที่มีผลต่อระบบประสาท-ระบบโลหิต-ระบบกล้ามเนื้อ”ดร.ลาวัณย์กล่าว

หัวหน้าสวนงู ยังแนะจุดสังเกตด้วยว่า เมื่อต้องการทราบว่างูป่วยหรือไม่ ให้ดูที่ความถี่ของการกินอาหาร ว่าลดน้อยลงหรือไม่ และการลอกคาบเป็นอย่างไร ตลอดจนลักษณะผิวหนังด้านใต้ท้องมีตุ่มหรือแผลเล็กๆ

หากทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาจติดเชื้อได้ ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ทุกตัว แต่จะแตกต่างเรื่องระยะเวลาของการติดเชื้อ บางชนิดเร็ว-ช้า และจะสังเกตได้ยากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เนื่องจากสีหน้า แววตาของสัตว์ประเภทนี้ไม่แสดงให้เห็นแบบชัดเจน

เมื่อได้รับคำตอบที่กระจ่างเช่นนี้แล้ว…จึงเป็นบทสรุปได้ชัดว่า…”งู” ไม่สามารถฆ่าตัวเองได้จริง…เพียงแต่พฤติกรรมและท่วงท่าอันเกิดจากอาการทางระบบประสาทต่างหาก…ที่ทำให้ดูเสมือนว่า “งูสามารถฆ่าตัวเองได้”

33

 

ที่มา www.dailynews.co.th

เรื่องน่าสนใจ