รายงานการศึกษาชิ้นใหม่ระบุว่า “ไม่มีระดับที่ปลอดภัยสำหรับการสูบบุหรี่” กล่าวคือ แม้แต่สูบแค่วันละมวนก็สามารถทำให้ชีวิตสั้นลงได้ รายงานชิ้นนี้ยังชี้ด้วยว่า การเลิกสูบบุหรี่สามารถยืดอายุให้ยืนยาวออกไปได้
มีหลายคนที่มีความเชื่อว่า หากสูบบุหรี่แต่น้อย เช่น สูบไม่ถึงสิบมวนต่อวัน หรือแค่วันละมวน ก็อาจไม่มีความเสี่ยงต่อโรคร้าย เช่น โรคมะเร็งปอด หรือโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ดังที่คนสูบบุหรี่จัดๆ มักจะเป็นกัน
แต่ล่าสุด สถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้ทำการวิจัยถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่แบบไม่จัด และพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโทษจากการสูบบุหรี่ แม้จะมีจำนวนไม่มากในแต่ละวัน ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่พูดถึงผลร้ายจากการสูบบุหรี่ปริมาณน้อย
ดร.มากิ อินโอยู-ชอย แห่ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐฯ ผู้ร่วมจัดทำรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า ผลการสำรวจพบว่าคนที่สูบบุหรี่เฉลี่ยไม่ถึงหนึ่งมวนต่อวัน มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย ราว 1.6 เท่า
ส่วนคนที่สูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 1-10 มวน มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ราว 1.9 เท่า
รายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Internal Medicine ชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยด้านอาหารและสุขภาพของสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NIH โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่สูบบุหรี่กว่า 290,000 คน อายุระหว่าง 59 – 82 ปี ซึ่งบางคนสูบบุหรี่มาตั้งแต่วัยเพียง 15 ปี หรือน้อยกว่านั้น
จากการติดตามผลนาน 10 ปี นักวิจัยพบว่าคนที่สูบบุหรี่เฉลี่ยไม่ถึงหนึ่งมวนต่อวัน มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 9%
ส่วนคนที่สูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 1-10 มวน มีโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ราว 12 เท่า นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่า และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า
ขณะเดียวกัน รายงานอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Preventive Health สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 170,000 คน และพบว่า ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคร้ายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ลดลงในกลุ่มผู้ที่ค่อยๆ ลดจำนวนบุหรี่ที่สูบในแต่ละวันลง และเมื่อหยุดสูบบุหรี่ ก็อาจสามารถช่วยยืดอายุขัยของคนๆนั้นออกไปได้
แม้แต่ผู้ที่หยุดสูบบุหรี่ในวัย 60 กว่าๆ ก็ยังมีโอกาสเสียชีวิตลดลงถึง 23% เทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่จนถึงวัย 70 กว่า
คุณนอร์แมน เอเดิลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเกี่ยวกับปอด แห่ง American Lung Association กล่าวว่างานวิจัยทั้งสองชิ้นที่กล่าวมานี้ ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก ทำให้ผลที่ได้มีความน่าเชื่อถือ
ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดผู้นี้ชี้ว่า มีคนจำนวนมากที่บอกว่าพวกตนไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ซึ่งงานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้จะช่วยทำให้คนเหล่านั้นมีกำลังใจขึ้นว่า แม้จะเลิกสูบบุหรี่ในวัยที่เกิน 60 ปีไปแล้ว ก็ยังสามารถช่วยยืดอายุขัยได้จริงๆ
หรืออาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีคำว่าเร็วเกินไป หรือช้าเกินไป สำหรับการทำอะไรสักอย่างที่ดีต่อสุขภาพของตัวเอง เพื่อให้ใช้ชีวิตต่อไปได้นานๆ”
เครดิตจาก Jessica Berman รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง , ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.voathai.com , sanook