จากกรณีที่มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ ที่ออกมาว่า การเลี้ยงแมวในบ้านอาจทำให้บุตรหลานในบ้านมีพัฒนาการทางสมองไม่เท่าเทียมกับเด็กคนอื่นนั้น รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงอัจฉริยา ไศละสูต ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ และเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยถึงกรณีดังกล่าว
โดยระบุว่าตามปกติแล้วในการเลี้ยงสัตว์ เชื่อว่าสัตว์สามารถช่วยช่วยในการบำบัดรักษา เด็กมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ เช่น เด็กออทิสติก เพราะการจับต้อง ลูบคลำ มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ จะช่วยให้ร่างกายและพัฒนาการทางสมอง มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกมากขึ้น
ทั้งนี้ ต้องดูว่าเด็กมีพัฒนาการปกติหรือไม่ เป็นเด็กร่าเริง แข็งแรง หรือเป็นเด็กที่มีปัญหาอยู่แล้ว รวมไปถึงสภาพแวดล้อม เพราะการเลี้ยงแมว ความรู้สึกจะต่างจากการเลี้ยงสุนัข สุนัขจะเป็นสัตว์ที่ดูมีชีวิตชีวา ในขณะที่แมวจะดูเงียบ ต้องขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก เพราะเด็กบางวัยชอบสุนัขมากกว่าแมว เช่น เด็กเล็กที่อาจต้องการการตอบสนอง และร่าเริง นอกจากนี้ยังต้องดูที่นิสัยของเด็กด้วย เด็กบางคนชอบอะไรเงียบๆ เหมือนแมว เลยดูช้ากว่าคนอื่น แต่ไม่ได้มีผลต่อพัฒนาการทางสมอง
ส่วนในประเด็นที่มีการระบุว่า ถ้าเด็กไปสัมผัสกับอุจจาระของแมว อาจทำให้มีปรสิตบางชนิดที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กนั้น เชื่อว่าอาจจะมีผลทางอ้อม เพราะอุจจาระแมวมักจะมีพยาธิเป็นเรื่องปกติ หากไข่พยาธิที่อยู่ในอุจจาระไปสัมผัสกับเท้าเด็กที่ไม่ใส่รองเท้า ก็จะทำให้เด็กมีพยาธิ ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่เจริญเติบโต หรือมีภาวะโลหิตจาง ซึ่งภาวะเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางสมอง และการเรียนรู้ของเด็ก