เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า โรคกระจกตาโก่งเกิดจากเส้นใยคอลลาเจนในกระจกตาอ่อนแอ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด คาดว่ามีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ เพราะมีการขยี้ดวงตาอย่างแรงโดยใช้ข้อนิ้ว ซึ่งก็สันนิษฐานว่าการกด ขยี้ดวงตาอย่างแรงนั้นเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอลง จนทำให้ความดันในลูกตาซึ่งเป็นความดันปกตินั้นสามารถดันกระจกตาให้โก่งขึ้นในลักษณะบิด เบี้ยว เกิดการหักเหของแสงมากเกินไป กระทบกับการมองเห็นทั้งสายตาสั้น สายตาเอียง หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้กระจกตาแตกทำให้น้ำในลูกตาซึมเข้าไป ทำให้เกิดเป็นฝ้าขาว ขุ่น อักเสบบวม เป็นแผลเป็น อาจจะทำให้กระจกตาพิการ มีปัญหาเรื่องการมองเห็น
รศ.พญ.งามจิตต์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. อายุ 10-20 ปี กลุ่มนี้โรคมักมีอาการรุนแรง 2. อายุ 20-30 ปี โรคจะนิ่งๆ ไม่เป็นมาก และ 3 กลุ่มที่ไม่แสดงอาการ รู้ตัวเมื่อตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจวัดทางจักษุแพทย์ สำหรับการรักษา มีอยู่ 5 วิธี คือ
1. การสวมแว่นสายตา
2.คอนแทคเลนส์
3.การฉายแสงอัลตร้าไวโอเลตเอ (Crosslinking) ผสมกับไวตามินบีในทางการแพทย์ เพื่อทำให้เกิดปฏิกิริยาเชื่อมตัวเส้นใยคอลลาเจนให้มากขึ้น แข็งแรงมากขึ้น สามารถต้านแรงดันลูกตาไม่ให้กระจกตาโก่งตามแรงดันนั้นได้ เป็นการหยุดยั้งกระจกตาโก่ง
4. การใส่วงแหวนขึงตรึงกระจกตา หลักการเหมือนกับใส่สะดึงตรึงผ้า แต่เป็นการรักษาชั่วคราว และ
5. การเปลี่ยนกระจกตาใหม่ ซึ่งต้องรอการบริจาคซึ่งเฉลี่ยแล้วต้องรอ 3 ปี
“เราพยายามให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อไหร่ที่จบการรักษาด้วยการเปลี่ยนกระจกตาแล้วจะมีปัญหาเรื่องการต่อต้านขึ้นมาเรื่อยๆ ปัจจุบันเนื่องจากคนไข้เยอะมีคนไข้มาจากหลายๆ ที่พบว่าคนไข้ที่ทำเลสิกนั้นมีปัญหากระจกตาโก่งได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากว่าต้องมีการฝนกระจกตาให้บางลงทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระจกตาโก่งเพิ่มขึ้น แต่โอกาสก็มีไม่มากนักเพราะจักษุแพทย์จะตรวจสอบและระมัดระวังเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว เพื่อความมั่นใจ รพ.จุฬาฯ กำลังสั่งเครื่องฉายรังสีหลังทำเลสิก เพื่อให้กระจกตาแข็งแรง โดยจะนำเข้าภายในปลายปีนี้ ถือเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย” หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา กล่าว