ครูโรงเรียนคลองขลุงรัชดาภิเษก จ.จันทบุรี ผุดหลักสูตรรายบุคคลช่วยเด็กท้องไม่พร้อมเรียนต่อจนจบ ชี้เราเป็นครูต้องพานักเรียนไปให้ถึงฝั่ง
นางสาวอัธยาบุณยรัตเศรณี ครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนคลองขลุงรัชดาภิเษก จังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงประเด็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ตั้งครรภ์มีโอกาสได้เรียนต่อว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นเรื่องสำคัญในปีการศึกษานี้มีนักเรียนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจำนวน ๗ คนเรียนต่อที่โรงเรียนเป็นนักเรียนชั้นม.๖ จำนวน ๕ คน และชั้นม.๕ จำนวน ๒ คน จากจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียนประมาณ ๑,๑๐๐ คน ทั้งนี้ทางโรงเรียนตระหนักถึงปัญหาจึงออกแบบหลักสูตรเฉพาะสำหรับนักเรียนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้เรียนต่อได้จนจบซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็กทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพในอนาคตโดยเริ่มปีการศึกษานี้เป็นปีแรก
นางสาวอัธยากล่าวต่อว่า การช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมนั้น เริ่มแรกจะต้องพูดคุยกับครู ฝ่ายบริหารและผู้ปกครอง เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาว่าหากปล่อยให้นักเรียนที่ตั้งครรภ์หลุดออกจากระบบการศึกษาจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่มีคุณภาพเนื่องจากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและการขาดโอกาสในการทำงานในอนาคตเป็นต้น จากนั้นจึงพูดคุยกับเพื่อนนักเรียนในห้องให้เข้าใจและเห็นใจเพื่อนที่ประสบปัญหา เพื่อให้เด็กรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจโดยจะทำควบคู่ไปกับการออกแบบหลักสูตรเป็นรายบุคคล เริ่มจากให้นักเรียนเลือกอาจารย์ที่ไว้ใจเป็นที่ปรึกษา ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลในเรื่องการเรียนและสภาพจิตใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกรูปแบบการเรียนด้วยตัวเองแต่ต้องเรียนให้ครบตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และมีการวัดผลการศึกษาตามปกติเพียงแต่เปิดโอกาสให้เด็กเลือกวัน เวลา ในการมาเรียนและมาสอบเอง เช่น หากนักเรียนอายที่จะมาโรงเรียนก็สามารถมารับการบ้านหรือมาสอบนอกเวลาเรียนได้นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เช่น อนุญาตให้ย้ายแผนการเรียนได้หากมีผลการเรียนต่ำลงให้พักการเรียนได้หากนักเรียนต้องการหรือให้ลาคลอดแล้วกลับมาเรียนใหม่ได้ เป็นต้น
ทั้งนี้การกลับมาร่วมชั้นเรียนกับเพื่อนตามปกตินั้น อาจจะเป็นไปได้ในช่วงแรกที่อายุครรภ์ยังไม่มาก เพราะหากอายุครรภ์มากขึ้นสภาพร่างกายอาจไม่เอื้ออำนวย เช่น ปวดปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง ไม่สบายเนื้อสบายตัว หรือนักเรียนบางคนอาจมีสภาพจิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอจะมาเรียนตามปกติ แต่ครูก็พร้อมจะให้คำปรึกษาเสมอและพร้อมจะผลักดันให้เด็กเรียนจนจบทุกคน โดยที่ผ่านมาเด็กส่วนใหญ่ก็กลับมาเรียนต่อจนจบการศึกษา จะมีเพียงบางส่วนที่หลังจากพักการเรียนไปแล้วก็ทำเรื่องย้ายโรงเรียนจึงไม่สามารถติดตามได้
นักเรียนที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง กล่าวคือ เป็นเด็กเรียบร้อย เรียนดี แต่ขาดทักษะและประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ดังนั้นโรงเรียนจึงจำเป็นต้องให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องเพศเพิ่มเติมเช่น เรื่องการคุมกำเนิด วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับนักเรียนทุกคนและทุกระดับชั้น จึงได้นำหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษามาใช้สอนตั้งแต่ชั้นม.๑-ม.๖จำนวน ๑๖ คาบต่อปี หลักสูตรดังกล่าวส่งผลให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว กล้าที่จะพูดคุยและปรึกษาปัญหาเรื่องเพศกับครูหรือเพื่อนๆ มากยิ่งขึ้น และทำให้ทราบว่าสาเหตุของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นนั้นเกิดจากความเข้าใจผิดเรื่องการคุมกำเนิด เช่น เด็กมักกลัวว่าหากรับประทานยาคุมกำเนิดแล้วจะทำให้อ้วน หรือการสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์หมายความว่าไม่ไว้วางใจในคู่ของตัวเอง เป็นต้น
นางสาวอัธยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนปัญหาการตั้งครรภ์เลียนแบบนั้น เด็กจะเรียนรู้จากเพื่อนเองว่าไม่มีใครอยากจะตั้งครรภ์ตั้งแต่ต้น และรู้ว่าเพื่อนที่ตั้งครรภ์นั้นต้องเผชิญกับความยากลำบากอะไรบ้าง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจจึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด และหากครูเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศอย่างถูกวิธี มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาต่างๆ ประกอบเพื่อให้เด็กรู้จักได้คิดวิเคราะห์ รู้จักป้องกันและปฏิเสธ ส่งผลให้เมื่อเจอสถานการณ์จริงก็มีความรู้และความเข้มแข็งทางจิตใจมากพอที่จะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม ก็คาดว่าปัญหาท้องไม่พร้อมน่าจะลดลง
“การทำงานในช่วงแรกแม้จะมีเสียงคัดค้าน เช่น ปล่อยให้เด็กท้องเรียนต่อจะทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเปล่า แต่เราเป็นครู อย่างไรเราก็ส่งเด็กให้ถึงฝั่งถึงเขาจะพลาดพลั้งไปบ้างก็ต้องประคับประคองกันต่อไป การที่เด็กประสบปัญหาเช่นนี้คนเป็นครูต้องกลับมาคิดว่าเราสอนให้เขาขาดความเข้มแข็ง ขาดทักษะชีวิตไปหรือเปล่า ครูต้องตระหนักในความเป็นครู เราไม่ได้สอนแค่วิชา แต่เราสอนให้คนเป็นคน” นางสาวอัธยากล่าว