คณะกรรมการกิจการแพร่ภาพออกอากาศของอินโดนีเซีย หรือ KPI ซึ่งมีหน้าที่คอยตรวจสอบเนื้อหาของรายการโทรทัศน์ต่างๆ ได้ส่งจดหมายเตือนไปยังสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่แพร่ภาพการ์ตูนชุด Crayon Shin-chan ว่าเป็นรายการที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม พร้อมแนะนำให้สถานี RCTI ตัดส่วนที่มีปัญหาของการ์ตูนทิ้ง หรือไม่ก็เปลี่ยนเวลาออกอากาศไปเป็นช่วงดึกแทน
ฝ่าย อกาธา ลิลี เจ้าหน้าที่อาวุโสแห่ง KPI ได้ให้ข่าวกับหนังสือพิมพ์ The Asahi Shimbun ว่าการ์ตูนเรื่อง Crayon Shin-chan มีเนื้อหาไม่เหมาะสมสำหรับเด็กมากมายทั้ง “ตัวละครชินจังที่มักจะแกล้งคนด้วยการเปลือยก้นของตัวเองไปทั่ว … เขายังไปวุ่นวายกับหนุ่มสาวที่กำลังออกเดตกัน นอกจากนั้นการ์ตูนยังมีภาพของตัวละครหญิงในชุดชั้นในวาบหวาม และภาพก็เน้นสัดส่วนของตัวละครด้วย”
“โดยเนื้อแท้แล้วนี่ก็คือสื่อลามกอนาจาร” ตัวแทนของ KPI กล่าว
แต่ตัวแทนจากสถานี RCTI ได้ปฏิเสธที่จะทำตามคำแนะนำ และยืนยันว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาร้ายแรงเช่นนั้น …. “ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมเกิดปัญหาขึ้น อาจจะเป็นบางฉากของสัปดาห์ก่อนเท่านั้น แต่หลังจากนี้เราก็จะยังออกอากาศเหมือนเดิม โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร” ตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ให้ข่าว
Crayon Shin-chan มีต้นฉบับเป็นการ์ตูนตลกผลงานของ โยชิโตะ อุซุย ที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารสำหรับผู้ใหญ่ฉบับหนึ่งตั้งแต่ปี 1990 ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นอนิเมชั่นในปี 1992 และได้รับความนิยมจากทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะค่อนข้างเหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ก็ตาม ทั้งการเสียดสีสังคมญี่ปุ่นในเรื่องการใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบของครอบครัวชาวญี่ปุ่นยุคใหม่, การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ในยุคปัจจุบัน และเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กในยุคนี้ ซึ่งการ์ตูน Crayon Shin-chan ยังคงออกอากาศที่ญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน แม้ผู้เขียนจะเสียชีวิตไปเมื่อปี 2009 แล้วก็ตาม
นอกจากความโด่งดังในประเทศญี่ปุ่นแล้ว Crayon Shin-chan ก็ยังถูกซื้อไปออกอากาศในหลายๆ ประเทศ และได้รับความนิยมมากมายทั่วโลก แต่ในเวลาเดียวกัน ในหลายๆ ประเทศการ์ตูนเรื่องนี้ก็ต้องเจอกับปัญหาการเซนเซอร์ และโดนวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นที่อินเดียที่ Crayon Shin-chan โดนแบนในปี 2008 เพราะฉากโป๊กับเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ ส่วนในเวียดนามฉบับหนังสือการ์ตูนก็โดนโจมตีอย่างหนัก ถึงกับกลายเป็นประเด็นในรายการวิเคราะห์ข่าวของที่นี่ จนทางผู้จัดจำหน่ายต้องหยุดขายชั่วคราว และออกการ์ตูนฉบับใหม่ที่มีการเซ็นเซอร์แล้ว พร้อมระบุคำแนะนำเกี่ยวกับอายุที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมเอาไว้บนปกหนังสือด้วย
ส่วนในกาหลีใต้ Crayon Shin-chan ก็ถูกเซนเซอร์ในหลายๆ ฉาก และยังมีเปลี่ยนบทพากย์ในฉากตลกลามก ให้เป็นมุกตลกที่เหมาะสมกับเด็กมากกว่า เพื่อให้การ์ตูนเหมาะสมสำหรับเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ติดตามการ์ตูนเรื่องนี้มากที่สุดนั่นเอง
สำหรับที่อินโดนีเซีย Crayon Shin-chan เป็นที่รู้จักของที่นี่มาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว และนอกจากการ์ตูนแล้วก็ยังมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนเรื่องนี้ขายในอินโดนีเซียมากมาย จนนับได้ว่า Crayon Shin-chan เป็นการ์ตูนฮิตอันดับต้นๆ ของประเทศนี้ เป็นรองเพียง Doraemon เท่านั้น
ที่มา: manager