ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโลโมโนซอฟ มอสโก ของรัสเซีย เผยแพร่การค้นพบดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ “2014ยูอาร์116” เส้นผ่านศูนย์กลางราว 370 เมตร

11.jpg

 

เทียบขนาดได้ประมาณภูเขาลูกหนึ่ง และมีวงโคจรที่ตัดข้ามกับวงโคจรของโลกในทุกๆ 3 ปี อาจสร้างปัญหาใหญ่โตได้หากผ่านเข้ามาระยะแรงดึงดูดของโลก และถูกดูดลงมาถล่มพื้นโลกในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าจะยังไม่ใช่ช่วงเร็วๆนี้

ศาสตราจารย์วลาดิเมียร์ ลิปูนอฟ จากมหาวิทยาลัยโลโมโนซอฟ ซึ่งเผยแพร่การค้นพบดาวเคราะห์ดังกล่าว ผ่านทางสารคดีสั้นบนเว็บไซต์ สำนักงานอวกาศรัสเซีย เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า หาก “2014ยูอาร์116” ตกลงสู่พื้นโลก ขนาดของมัน จะส่งผลให้เกิดแรงระเบิดมหาศาลกว่าแรงระเบิดของอุกกาบาตที่ถล่มเมืองเชลยาบินสก์ เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมาถึง 1,000 เท่า

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์วลาดิเมียร์ ยังชี้ให้เห็นอันตรายของ “2014ยูอาร์116” ว่า ยากที่จะคำนวณวงโคจรของมันได้แน่ชัด เนื่องจาก “2014ยูอาร์116” เป็นเทหวัตถุขนาดใหญ่ เมื่อเคลื่อนผ่านระบบสุริยะ วงโคจรของมันมักได้รับผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ใกล้เคียงให้เปลี่ยนแปลงผิดเพี้ยนไปจากแนวโคจรเดิม

ซึ่งเราจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ตลอดเวลา เพราะการคำนวณผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็อาจก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงตามมาได้

อย่างไรก็ตาม นาทาน เอสมันท์ ผู้เชี่ยวชาญเทหวัตถุใกล้โลก จากสถาบันวิจัยอวกาศในกรุง มอสโก ยืนยันว่ายังคงมีสิ่งบ่งชี้น้อยมากว่า ดาวเคราะห์น้อย “2014ยูอาร์116” นี้จะพุ่งเข้าชนโลก

แม้ว่าในระยะยาวอาจมีความเป็นไปได้ แต่ขณะนี้ปัญหาที่ร้ายแรงกว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ คือ บรรดาเทหวัตถุใกล้โลกทั้งหลายไม่น้อยกว่า 100,000 ดวง ทั้งที่เป็นดาวหางและดาวเคราะห์น้อยต่างๆ และมีเพียง 11,000 ดวงเท่านั้น ที่ถูกตรวจสอบวงโคจรและจำแนกกลุ่มไว้เพื่อติดตามการคุกคาม

ด้านโครงการเนียร์ เอิร์ธ อ็อบเจกต์ (นีโอ) ในสังกัดห้องปฏิบัติการเจท โพรพัลชั่น แลบอราทอรี (เจพีแอล) ขององค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา) ยืนยันว่า เท่าที่ตรวจสอบจนถึงขณะนี้ “2014ยูอาร์116” ยังจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อโลกอย่างน้อยก็ภายในศตวรรษนี้

เนื่องจากวงโคจรจะตัดผ่านกับวงโคจรโลกในระยะห่างไม่น้อยกว่า 5 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 10 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ทั้งนี้ เมื่อมีการค้นพบแล้ว “2014ยูอาร์116” จะถูกติดตามโดยกล้องโทรทรรศน์ของหอสังเกตการณ์นานาประเทศที่ร่วมมือกันเพื่อป้องกันภัยดาวเคราะห์

หรือดาวหางถล่มโลกเช่นนี้อย่างน้อย 300 หอสังเกตการณ์ในช่วงระยะเวลา 6 ปี ทำให้ “2014ยูอาร์116” มีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเป็นระยะ สำหรับเตือนภัยล่วงหน้าหากส่อเค้าจะเป็นภัยคุกคามขึ้นมา

ที่มา tnews

เรื่องน่าสนใจ