ที่มา: ThaiHealth

อาจเคยได้ยินว่า เราควรจะไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุกครึ่งปี ถามว่าจำเป็นหรือไม่? วันนี้ Dodeden.com มีคำตอบมาฝากทุกคนค่ะ! 

14-10

เมื่อปี ค.ศ.2004 หนังสือพิมพ์ดังของประเทศอังกฤษลงรูปบนหน้า 1 แสดงให้เห็นผู้คนยืนต่อแถวยาวเหยียดหน้าโรงพยาบาลแมนเชสเตอร์ ตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนโรงพยาบาลเปิด พาดหัวข่าวว่า ประเทศกำลังประสบปัญหาทันตแพทย์ขาดแคลน ทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้เพียงพอ ข่าวดังกล่าวเดือดร้อนถึงนักวิชาการทันตสาธารณสุขที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษามากมาย พบว่างานบริการทันตกรรมที่ประชาชนได้รับจากการไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือประจำครึ่งปี คือการขูดหินน้ำลาย และการรื้อวัสดุอุดฟันเก่าที่มีสภาพไม่ดีออกแล้วอุดใหม่ ขณะที่การตรวจเจอรอยผุใหม่เกิดขึ้นไม่มากนัก และไม่ได้เกิดขึ้นในทุกครั้งที่ไปตรวจสุขภาพ

งานวิจัยพบว่า ในยุคทศวรรษ 1980 การเกิดฟันผุใช้เวลา 3-4 ปี ในการทะลุผ่านชั้นเคลือบฟันจนถึงชั้นเนื้อฟัน ซึ่งเป็นระยะที่สมควรได้รับการอุด (ขณะที่รอยผุในระยะเริ่มต้นที่ยังอยู่ในชั้นเคลือบฟันควรได้รับการดูแลแบบสงวนเนื้อฟัน คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ให้นาน ลดของหวานจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดการกลับคืนของแร่ธาตุสู่ผิวฟัน การผุจะหยุดลงได้ คุ้มค่ากว่าการอุดฟันที่จะต้องกรอเสียเนื้อฟันเพิ่ม) อย่างไรก็ดี ยุคหลังทศวรรษ 1990 ที่มีการใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์เพิ่มขึ้น ระยะเวลาของการลุกลามตามธรรมชาติของโรคฟันผุเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 6 ปี

          สำหรับการรับการขูดหินน้ำลายเป็นประจำนั้น ไม่ควรถือเป็นวิถีปฏิบัติอย่างยิ่ง หินน้ำลายเกิดจากคราบจุลินทรีย์ (ขี้ฟัน) ที่ตกค้างเป็นเวลานานจากการแปรงฟันไม่สะอาดทั่วถึง ดังนั้น หากได้รับการขูดหินน้ำลายแล้ว ควรที่จะทราบว่ามีหินน้ำลายบริเวณใด แสดงว่ายังแปรงไม่สะอาดที่บริเวณนั้น และขอคำแนะนำเพื่อให้แปรงได้เข้าถึงบริเวณดังกล่าว จากนั้นกลับมาปรับปรุงการแปรงฟันเพื่อที่หินน้ำลายจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก

งานวิจัยที่มีคุณภาพจำนวนมากจึงได้สรุปว่า สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น การพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ช่วงระยะเวลาดังกล่าวสามารถเพิ่มขึ้นเป็นทุก 1 หรือ 2 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้นได้ ขึ้นกับระดับความเสี่ยงของแต่ละคน

     ทุกคนควรที่จะไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจช่องปากในขณะที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ไม่ใช่ต้องมีอาการแล้วจึงไป การไปตรวจเช็กช่องปากนั้น นอกจากเพื่อตรวจหารอยโรคแล้วรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว ยังเป็นการไปเพื่อรับรู้ระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของตนเอง รับรู้วิธีการดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงแล้ววางแผนการตรวจเช็กครั้งถัดไปได้อย่างเหมาะสม

ป้ายกำกับ: |

เรื่องน่าสนใจ