ที่มา: dodeden

เวทีสุขภาพจิตนานาชาติครั้งใหญ่ !!  หยิบปัญหา “โรคซึมเศร้า” ถกกันเครียด ตอกย้ำความสำคัญโรคซึมเศร้า ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกได้ทำการสำรวจ พบว่าประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2563 จะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า  เป็นอันดับ 2 ของโลก

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้ ( 3 สิงหาคม  2560)  ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชัน กทม. นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 16 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กครั้งที่ 14 ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม เรื่อง “ซึมเศร้า…เราคุยกันได้” ( Depression, Let’s Talk )

โดยกล่าวว่าโรคซึมเศร้าพบได้บ่อยในประชาชนทุกกลุ่มวัย เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยดูแลกัน เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางสุขภาพในประชากรทั่วโลกและในผู้หญิงไทย

จากการประมาณการขององค์การอนามัยโลก มีประชากรมากกว่า 300 ล้านคน ป่วยด้วยโรคนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่าถึง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 และคาดว่าในอีก 13 ปี ข้างหน้าความสูญเสียจะเพิ่มมากขึ้นกว่าสองเท่า สำหรับประเทศไทย มีประมาณ 1.5 ล้านคน

ที่สำคัญ ผู้ป่วยซึมเศร้ามีความเสี่ยงสูงที่จะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า ผู้ป่วยซึมเศร้ากลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มวัยสูงอายุ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด

อุปสรรคที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการ คือ การขาดความตระหนัก  ไม่รู้  ไม่เข้าใจว่าเป็นความเจ็บป่วย ตลอดจนอคติจากสังคม มองเป็นการเรียกร้องความสนใจ ขี้เกียจ อ่อนแอ แต่จริงๆ แล้วเขาป่วย เราไม่รู้ ทั่วโลกต่างรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงนี้  หลักการสำคัญคือการคัดกรองด้วยเครื่องมือที่ง่าย

หากประชาชนสามารถคัดกรองญาติ ผู้ใกล้ชิดและเพื่อนที่สงสัยและสังเกตเห็นแนะนำให้ส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน มีทั้งการรักษาด้วยยาต้านเศร้า

การรักษาด้วยจิตบำบัด และการรักษาด้วยไฟฟ้าตามระดับความรุนแรงของอาการโรคที่วินิจฉัยทั้งนี้ ขอย้ำว่า โรคซึมเศร้า รักษาหายได้ หาหมอให้เร็ว  ไม่ต้องอาย เหมือนเวลาเราไม่สบายก็ไปหาหมอ รับประทานยาให้ต่อเนื่องตามที่หมอสั่งนายแพทย์ธวัชกล่าว

ด้าน นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า ภาวะซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอทางจิตใจ จะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้า ท้อแท้ ซึม เบื่อ ไม่อยากพูดหรือทำกิจกรรมเหมือนเดิม ถ้าไม่รีบรักษาอาการจะรุนแรงขึ้น

สาเหตุมาจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท พันธุกรรม ลักษณะบุคลิกภาพส่วนตัว และโรคทางกายหลายโรคและยา รวมทั้งความเครียดในชีวิต ความผิดหวัง และความสูญเสีย  สิ่งจำเป็นที่สุด คือ การดูแลด้วยความตั้งใจและอดทน จากเพื่อน ครอบครัว และคนใกล้ชิด ที่จะช่วยให้อาการซึมเศร้าหายเร็วขึ้นการพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจจะเป็นก้าวแรกในการฟื้นคืนจากโรคซึมเศร้าเราทุกคนช่วยกันได้

สำหรับ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ศูนย์เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า ได้ทำวิจัยกลุ่มวัยรุ่นไทย อายุ 15-18 ปี ที่มีประสบการณ์ซึมเศร้า ทั้งชายและหญิง ทั้ง 4 ภาค

ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จำนวน 177 คน พบว่า ลักษณะอาการเด่นที่พบมากในวัยรุ่น คือ การแยกตัว หงุดหงิด มีอารมณ์เศร้า คิดว่าตนเองไร้ค่า เด็กผู้ชายมักทำกิจกรรมที่โลดโผน ใช้ความเร็ว ร่วมกับมีอารมณ์วู่วาม ในขณะที่ผู้หญิงจะพบการร้องไห้หรือระบายอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า

เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าของวัยรุ่น พบว่า เกิดจากปัจจัยด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านครอบครัว เช่น พ่อแม่แยกทางกัน ทะเลาะกันบ่อยๆ ถูกคาดหวังสูง รู้สึกน้อยใจ ไม่ได้รับความรัก ครอบครัวมีรายได้น้อยและมีหนี้สิน ด้านสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น เช่น มีปัญหากับเพื่อน ไม่ได้รับการยอมรับ ด้านบุคลิกภาพ การเจ็บป่วย และการรับรู้ตนเอง

เช่น เป็นคนเลือดร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น เก็บกดความเครียดไว้ในใจ มีปัญหาหนี้สิน มีโรคประจำตัวเรื้อรังรักษาไม่หายขาด มีประวัติเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เหงา โดดเดี่ยว ไม่มีคนที่สามารถระบายความเครียด หรือพึ่งพาได้

ด้านการเรียน เช่น เรียนมากเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน ผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ด้านความรัก เช่น ถูกแฟนที่อยู่ด้วยกันทิ้งไป  ด้านประสบการณ์การสูญเสีย หรือประสบกับเหตุการณ์ สภาพแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น เจอกับเรื่องผิดหวังมากๆ ในชีวิต พิการ เพิ่งย้ายหรือเปลี่ยนโรงเรียน พ่อหรือแม่ป่วยหนัก ท้องในวัยเรียน เคยทำแท้ง

มีคนในครอบครัวเป็นโรคทางจิตหรือโรคซึมเศร้า อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและการถูกกระทำทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ถูกบังคับ ทำให้รู้สึกอาย พ่อแม่ทำร้ายร่างกาย คนรอบข้างกล่าวตำหนิบ่อยๆ ถูกโพสต์ตำหนิในโลกโซเชี่ยล ถูกรุมด่า เพื่อนล้อ เพื่อนแกล้ง รู้สึกมีปมด้อย เสียหน้า ครูเข้มงวดเกินไป ดุ และใช้คำพูดไม่เหมาะสม เป็นต้น

 

สำหรับ จากที่ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกได้ทำการสำรวจ และรายงานโรคที่จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนและประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2563 พบว่า โรคจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าจะมีอัตราการป่วยของประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก

รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และคาดว่าจะมีประชากรร้อยละ 10 ของโลกที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ทั้งผู้ที่ป่วย ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ

 

เรื่องน่าสนใจ