จิตแพทย์กล่าวว่า พฤติกรรม ‘เกรียน’ ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย ยังไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต แต่มีสาเหตุมาจากความไม่พอใจในตัวเอง และต้องการแสดงตัวตนในสังคมออนไลน์
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต มองว่าการแสดงพฤติกรรมเกรียนของชาวไทยในโลกออนไลน์ เป็นการพยายามหาพื้นที่แสดงตัวตนเพื่อให้ผู้อื่นสนใจ เนื่องจากการแสดงตัวตนในพื้นที่โลกออนไลน์ สามารถดึงความสนใจจากผู้คนได้เป็นวงกว้าง
รวมถึงคนในสังคมบางกลุ่มยังขาดความเข้าใจเรื่องมารยาทการใช้โซเชียลมีเดีย และเข้าใจผิดว่าโลกออนไลน์เป็นเพียงโลกเสมือนจริงที่จะแสดงพฤติกรรมอะไรก็ได้ โดยปราศจากการรับผิดชอบ
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่าพฤติกรรมเกรียนดังกล่าวหากเกิดขึ้นในวัยเด็กนับเป็นหนึ่งในการลองผิดลองถูก ที่ผู้ปกครองต้องสอนการใช้เทคโนโลยีและมารยาทในโลกออนไลน์อย่างใกล้ชิด ในขณะที่ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นถึงสภาวะความไม่พอใจในตนเองและขาดการยั้งคิด
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่อง NASA TV บนเว็บไซต์ยูทูบ ถ่ายทอดสดภารกิจสำรวจดาวพลูโต พร้อมเปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วโลกได้ซักถามข้อสงสัยผ่าน live chat แต่กลับมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยจำนวนมากพากันกระหน่ำพิมพ์ข้อความภาษาไทย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการสนทนา จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเกรียนของชาวเน็ตไทยเป็นวงกว้าง