ด้วยสภาพอากาศที่เย็นสบาย ความหลากหลายของธรรมชาติ รวมถึงทิวทัศน์ภูเขาสีเขียวสดตัดกับสีขาวโพลนของเวิ้งทะเลหมอกในยามเช้าที่เริ่มไปปรากฏอยู่บนโลกโซเชียล ทำให้วันนี้อำเภอ “เขาค้อ” จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจุดหมายปลายทางฮอตฮิต
อีกทั้งการเดินทางที่สะดวกสบายบนถนน 4 เลน หมายเลข 12 ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จใหม่หมาด ทำให้จากเดิมที่นักท่องเที่ยวนิยมมาแค่ช่วงฤดูหนาว ก็หันมาเที่ยวฤดูฝน และหน้าร้อนด้วย
เขาค้อวันนี้จึงมีความคึกคักอย่างยิ่ง ที่พัก รีสอร์ตผุดขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวกว่า 500-600 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างถิ่น 90% บนพื้นที่ราว 2 หมื่นไร่ พร้อมสรรพด้วยร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านกาแฟนับร้อย และกิจกรรมอีกมากมาย ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นทุกปี จากตัวเลขปี 2557 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเขาค้อถึง 1.8 ล้านคน
“จุลพงษ์ คุ้นวงศ์” หรือ “โจ้” ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้จัดการไร่ บี.เอ็น. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เขาค้อถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวหนึ่งที่มีเสน่ห์ อากาศดีมาก จากอดีต 10 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเพียงปีละ 2 แสนคน การเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปีละ 20% กระทั่งเขยิบขึ้นมาเป็น 1.8 ล้านคนในปัจจุบัน มีรายจ่ายต่อหัวต่อวันประมาณ 1,200 บาท หรือมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เขาค้อจะโตได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะว่ามีพื้นที่จำกัดเพียง 2 หมื่นไร่ โดยที่ดินมีเอกสารสิทธิมีเพียงเขตพื้นที่ตำบลแคมป์สน และตำบลทุ่งสมอเท่านั้น ขณะที่ตำบลเข็กน้อย เป็นพื้นที่ศูนย์พัฒนาชาวเขา ส่วนตำบลเขาค้อ และหนองแม่นา เป็นพื้นที่ที่ทหารจัดสรรให้ราษฎรอาสาสมัคร (รอส.) ยังไม่มีโฉนด ปัจจุบันยังเป็นเรื่องที่ต้องหาทางออกร่วมกันระหว่างภาครัฐ และประชาชน
ที่ดินขยับไร่ละ 2 ล้านบาท
ด้วยศักยภาพทางภูมิศาสตร์ เขาค้อเป็นที่ที่เข้าออกง่าย ถือเป็นศูนย์กลางของเมืองไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯราว 400 กิโลเมตร ห่างจากขอนแก่น 200 กิโลเมตร พิษณุโลก 100 กิโลเมตร และในอนาคตที่จะเปิดเออีซี ทำให้ถนนหมายเลข 12 หรือ AH 16 จะเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม เขาค้อจะเป็นเกตเวย์ ให้ผู้คนแวะพักบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก หรือ East – West Economic Corridor
ปัจจุบันราคาที่ดินบนเขาค้อ สำหรับที่ติดถนน และมีโฉนดอยู่ที่ไร่ละประมาณ 2 ล้านบาทขึ้นไป หากไม่ติดถนนก็เฉียด 1 ล้านบาท โดยพื้นที่ที่เปิดขายใหม่รวมแล้วประมาณ 200-300 ไร่ ที่เป็นรายใหญ่ นอกนั้นเป็นรายเล็ก ๆ ขณะที่ไร่บี.เอ็น.ได้จัดสรรที่ดินแบ่งขายเช่นกัน ประมาณ 30 ไร่ อยู่ในโซนของ The Front by BN Farm จากถนนหมายเลข 12 แยกเข้ามาทางถนนหมายเลข 2196 มุ่งสู่เขาค้อประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นราคาที่รวมสาธารณูปโภคแล้ว ตกไร่ละ 4 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากใครสนใจขอให้ดูที่ที่มีเอกสารสิทธิก่อน หากไม่แน่ใจให้เช็กที่กรมที่ดิน
เขาค้อ-บลูโซนถิ่นคนอายุยืน
คุณโจ้บอกว่า เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่เพียง 20 กว่าปี ทำให้เขาค้อไม่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จึงรอเพียงการสร้างขึ้นใหม่ โดยมีเงื่อนไขต้องอิงไปกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่บนพื้นที่ที่อ่อนไหวในแหล่งต้นน้ำ เป็นแหล่งที่จะสร้างมลภาวะได้ง่าย ดังนั้นกิจกรรมใด ๆ ต้องเชื่อมโยงกับชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า 5 อา คือ อากาศดี อาหารดี อารมณ์ดี อารยธรรมดี และอายุยืน
นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยกันในหมู่สมาชิกชมรมท่องเที่ยวธุรกิจเขาค้อถึงอนาคตของเขาค้อว่าจะกลายเป็น “บลู โซน” (Blue Zones) คอนเซ็ปต์ คือ ถิ่นของคนอายุยืน และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ประกอบกับลักษณะของประเทศไทย คือ คนรุ่นใหม่น้อยลง คนสูงอายุมากขึ้น ดังนั้นหากดึงคนเหล่านี้เข้ามา แล้วมีศักยภาพก็สามารถจะมีส่วนในการสร้างเขาค้อได้
เที่ยวยุคใหม่หลากหลายกิจกรรม
หากใครเคยเที่ยวเขาค้อเมื่อหลายปีมาแล้ว อาจคุ้นเคยกับเส้นทางเที่ยวเขาค้อที่มีไม่กี่แห่ง อาทิ พระตำหนักเขาค้อ เจดีย์กาญจนาภิเษก ชมธรรมชาติ แต่วันนี้เขาค้อเปลี่ยนโฉมไปมากแล้วทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ แข่งกันตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟยอดนิยม อย่าง ร้านรูท 12 ร้านพีโน่ ลาเต้ ร้านโมอาย หรือการท่องเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์ ปีนหน้าผา โหนสลิงก็มี
ล่าสุด ไร่บี.เอ็น.เตรียมปั้นโซนทุ่งหญ้าที่บริเวณ The Front by BN Farm ให้เป็นห้องรับแขกของเขาค้อ รองรับกลุ่มครอบครัว เด็ก ๆ สามารถมาวิ่งเล่นแบบสบาย ๆ ได้
อัดกิจกรรมดึงนักท่องเที่ยว
ด้าน “อำนาจ ศรีแก้วฟ้าทอง” หรือ “บิน” ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเขาค้อ และเจ้าของร้านกาแฟสตอรี่คัพเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาปักหลักใช้ชีวิตที่เขาค้อนานถึง 10 ปีแล้ว และเห็นการเติบโตมาตลอด แต่เป็นการเติบโตอย่างช้า ๆ ทว่าที่เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงชัด ๆ ก็คือ ช่วงปี 2554 ที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ทำให้คนเริ่มวางแผนมาอยู่บนเขาค้อ ตั้งแต่ช่วงนั้นมาจะเริ่มมีการจัดสรรที่ดิน มีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ามาจัดสรร แบ่งล็อกขายในที่ที่มีเอกสารสิทธิ ผู้คนเริ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น
ส่วนการท่องเที่ยวในอดีต จะมีนักท่องเที่ยวแค่ช่วงหน้าหนาว 3-4 เดือน แต่ปัจจุบันเริ่มมาเที่ยวตลอดทั้งปี โดยช่วงไฮซีซั่นคนจะเยอะสุดตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ไปถึงเดือนมกราคม อัตราเข้าพักถ้าเป็นรีสอร์ตใหญ่ ๆ เกือบ 100% โดย 99% เป็นคนไทย อีก 1% จะเป็นภรรยาคนไทยพาสามีฝรั่งมาเที่ยว
สำหรับกิจกรรมเขาค้อ จะแบ่งออกเป็นช่วงหน้าหนาวจะเป็นธีมของดอกไม้ในสายหมอก หน้าฝนจะมีสโลแกนหมอกขาว ป่าเขียว เที่ยวหน้าฝน พอช่วงหน้าร้อนเดือนมีนาคม-เมษายน ก็จะมีกิจกรรมพายเรือท่องป่าตามหาแมงกะพรุนที่ตำบลหนองแม่นา
“เราโปรโมตท่องเที่ยวหน้าฝนได้ 2-3 ปีแล้ว เริ่มส่งผลในปีนี้ ถ้าคุณมาเขาค้อหน้าฝนนะ จะรู้ว่าสวรรค์บนดิน ใครมาพักผ่อนหน้าฝนจะหลงเสน่ห์เขาค้อกันหมดเลย”
สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวของเขาค้อปีนี้เริ่มจากงาน “โอเวอร์โค้ทมิวสิค เฟสติวัล” ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 6 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2558 ต่อด้วยงาน “เขาค้อแลนด์ ดินแดนแห่งสตรอว์เบอรี่” ซึ่งจะจัดเป็นครั้งแรกในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ที่บริเวณจุดชมวิว โดยเป็นการรวมตัวของคนปลูกสตรอว์เบอรี่ทั้งเขาค้อมาตั้งบูทขายพร้อมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ
นอกจากนี้ที่บริเวณ The Front by BN Farm จะมีการจัดงานศิลปะ พร้อมกับบูทสินค้าโอท็อปชื่อดังของเพชรบูรณ์ ท่ามกลางบรรยากาศของทุ่งหญ้ากว้างที่เต็มไปด้วยสีสันของดอกไม้ ในชื่อธีมว่าภูดอกไม้ในสายหมอก นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะจัดงานปั่นจักรยาน “ขี่เสือทะลุหมอก” และในวันเดียวกันนี้มีงานวิวาห์รัก 360 องศา ที่เขาตะเคียนโง๊ะ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ของเขาค้ออีกด้วย จากนั้นตกค่ำกลับมาชมคอนเสิร์ต “Love Rock” ที่ลาน The Front
หากใครยังไม่เคยไปเยือน หนาวนี้ต้องลองสัมผัสสักครั้ง แล้วจะไม่ลืม…เขาค้อ