โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพปรากฏการณ์เมฆอาร์คัส หรือ เมฆชนกัน โดยก้อนเมฆขนาดใหญ่รวมตัวก่อนที่จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ซึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักทำให้ชาวอุบลฯแห่ถ่ายภาพเป็นจำนวนมาก และนำมาเผยแพร่ใน Facebook
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ เมฆอาร์คัส เกิดจากลมที่หอบนำเอาความชื้นในชั้นบรรยากาศ และฝุ่นละอองพัดมารวมตัวกัน จนทำให้เกิดเป็นกลุ่มเมฆอาร์คัส ซึ่งน้ำหนักของเมฆอาร์คัส หนักกว่าเมฆฝนแบบปกติ เนื่องจากมีฝุ่นละอองรวมอยู่มาก ทั้งนี้ ลม ฝุ่น ความชื้น และละอองน้ำ ก็ยังถือเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ความแตกต่างระหว่างเมฆฝนแบบปกติและเมฆอาร์คัส จะแตกต่างกันตรงที่ เมฆอาร์คัส เกิดขึ้นบริเวณใกล้กับพื้นผิวโลกโดยลักษณะการเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆอาร์คัส จะต่ำลงมาใกล้พื้นผิวโลกมากขึ้น หากมีการสะสมของปัจจัยที่กล่าวมาในปริมาณมาก ๆ จนกลุ่มเมฆอาร์คัส พัดมาปะทะกับความเย็นของอากาศบริเวณพื้นผิวโลก จึงเกิดลักษณะการม้วนกลุ่มเมฆอาร์คัส ปรากฏให้เห็นคล้ายกำแพงก้อนเมฆ