โรคซึมเศร้า หรือ ภาวะซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง คนที่เป็นอาจไม่รู้ตัวก็ได้ว่าเป็นอยู่ อาจจะคิดแค่ว่าเราเครียด เศร้า เดี๋ยวก็หาย แต่ปรากฏว่าไม่หาย และความเศร้า ความผิดหวัง ยิ่งสะสมมากขึ้น
ซึ่งกรมสุขภาพจิต ให้ความหมายของ ภาวะซึมเศร้า ไว้ว่า “เป็นภาวะที่จิตใจหม่นหมอง หดหู่ ร่วมกับความรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า ทำอะไรก็รู้สึกตัวเองผิด และชอบตำหนิตัวเอง”
แต่ระยะเวลาที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน บางคนอยู่เป็นเดือนๆ แต่คนที่เป็นหนักก็เป็นปีเลยก็ได้ค่ะ องค์การอนามัยโลกเคยออกมาทำนายด้วยว่าปี ค.ศ.2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับสองรองจากโรคหัวใจขาดเลือดเลย
ล่าสุด นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ความใส่ใจกับปัญหานี้ในอันดับต้นๆ เพราะสถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยถือเป็นปัญหาที่เฝ้าจับตา ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก
ทั้งนี้ อาการของโรคซึมเศร้า จะทำให้คนๆ นั้นมีความเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้สึก ความคิดและสุขภาพร่างกายไปพร้อมๆ กัน แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
เช่น ทางอารมณ์ ผู้ป่วยจะเริ่มหดหู่ สะเทือนใจง่าย เริ่มเป็นคนอารมณ์ร้าย สังเกตได้ว่าอาจจะมีปากเสียงกับคนรอบข้างอยู่บ่อยๆ ส่วนทางด้านความคิด จะมองว่าชีวิตตัวเองและสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองนั้นแย่ไปหมด มองไปทางไหนก็ไม่มีอนาคต
จนถึงขั้นคิดถึงเรื่องการตายบ่อยขึ้น และทางด้านสุขภาพ กลายเป็นคนไม่มีเรี่ยวแรง มีปัญหาด้านการนอน หลับๆ ตื่นๆ กินยาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง จนทำให้กลายเป็นคนที่ดูสุขภาพย่ำแย่ไปด้วย
เมื่อร่างกายและจิตใจเริ่มแปรปรวน ก็จะเริ่มกระทบต่อการใช้ชีวิต อย่างที่เคยร่าเริงก็กลายเป็นคนเก็บตัว ขี้โมโห เคยมาเรียนทุกวันก็โดดเรียนไม่อยากเรียน วัยทำงานก็อาจทำงานได้ช้าลง ไม่มีสมาธิ งานผิดบ่อยก็อาจโดนไล่ออกได้ ดังนั้นสังคมจึงต้องเข้าใจผู้ป่วยให้มากขึ้น
ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ มีโอกาสเกิดอาการก็คือ ความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์
สารเคมีในสมองนั่นคือ เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง
ซึ่งโรคนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรมจากพ่อแม่สู่ลูกได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ป่วยจะต้องอยากฆ่าตัวตายเสมอไป ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและปัจจัยกระตุ้นด้วย
การช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตใจเบื้องต้นนั้น ผู้ป่วยมักมีแนวคิดในแง่ลบ มองว่าตนเองมีอาการมาก, เป็นโรคที่รักษาไม่หาย หรือไม่มีใครเป็นแบบตน. การบอกอาการและการวินิจฉัยแก่ผู้ป่วยโดยเน้นว่าเป็นปัญหาที่พบได้ไม่น้อย แพทย์ผู้รักษาพบผู้ป่วยในลักษณะนี้อยู่เสมอ ๆ และเป็นโรคที่การรักษาได้ผลดี พบว่ามีส่วนช่วยผู้ป่วยมาก
ผู้ป่วยอาจแจ้งอาการทางร่างกายต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ, ใจสั่น, ปวดหลัง, ชา, ร้อนตามตัว ซึ่งแพทย์มักชี้แจงว่าตรวจร่างกายแล้วพบว่าปกติ อาการเหล่านี้เป็นจากผู้ป่วยคิดไปเอง
จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาที่เป็นต้นเหตุของอาการเหล่านี้จริง. พร้อมกันนั้นการมีแนวคิดในแง่ลบ, สนใจร่างกายตนเอง มากกว่าปกติของผู้ป่วยทำให้ดูอาการมีมากขึ้น เมื่อโรคซึมเศร้าดีขึ้นอาการทางร่างกายเหล่านี้จะดีขึ้นตาม
ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยแจ้งอาการเหล่านี้ควรรับฟัง แสดงความเข้าใจ และอธิบายว่าเป็นอาการที่มักพบร่วมกับโรค จะดีขึ้นเมื่อรักษา
การรักษาหลักในปัจจุบันได้แก่ การใช้ยาแก้เศร้า ( antidepressants ) โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยมีอาการมากอยู่ ซึ่งการรักษาแบ่งออกเป็นสามระยะตามการดำเนินโรค
โดยการรักษาในระยะเฉียบพลันมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอาการของผู้ป่วย การรักษาระยะต่อเนื่องเป็นการคงยาต่อ แม้ว่าผู้ป่วยปกติดีแล้วทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดกลับมาป่วยซ้ำ และในผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้การรักษาระยะยาวเพื่อป้องกันการเกิดอาการป่วยซ้ำของโรค
การรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นอาการไม่ได้ดีขึ้นภายในวันสองวัน, ยาบางตัวมีฤทธิ์ข้างเคียงที่ผู้ป่วยทนไม่ได้ อีกทั้งต้องใช้เวลาในการรักษาอยู่หลายเดือน ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งขาดการติดตามการรักษาไป จึงต้องเน้นย้ำให้ผู้ป่วยรับยา และ ตรวจประเมินผลต่อเนื่องจึงจะหายขาด
และขณะนี้ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีองค์ความรู้ ตำรา งานวิจัย ฯลฯ ความก้าวหน้าในเรื่องโรคซึมเศร้ามากที่สุด
โดยมี “ศูนย์วิจัยและสารสนเทศโรคซึมเศร้า” โดยเฉพาะ ซึ่งเริ่มวิจัย ศึกษา พัฒนา มามากกว่า 10 ปี ตอนสถานการณ์ของโรคซึมเศร้ายังไม่รุนแรง
ซึ่งบุกเบิกโดยคณะของ นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ในขณะนั้น และ ปัจจุบันได้สานต่อโดยนายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์คนปัจจุบัน กลายเป็นตัวอย่างที่มีนักวิชาการ นักศึกษา นักวิจัย ไปดูงานจำนวนมาก
ขณะที่ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2020 อาชีพที่จะมาแรงอันดับสอง ได้แก่ นักจิตวิทยาบำบัด ซึ่งรวมไปถึง จิตแพทย์ นักวิชาการ สถานพยาบาล คลินิกจิตเวช ที่จะมีมากยิ่งขึ้น….. เผลอๆ มาแรง เปิดกันมากมาย เหมือนคลินิกความงามเลยทีเดียว
ภาพจาก สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย