ที่มา: Thairath Online

ชุมชนชาวลาวเวียงที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ฟื้นประเพณี ‘เล่นว่าว’ ในหน้าแล้งหลังเลือนหายไปกว่า 40 ปี ทั้งเด็กผู้ใหญ่แทบทุกบ้านต่างนำว่าวมาเล่นในทุ่งนาที่โล่งกว้าง สร้างความตื่นตาตื่นใจ เชิญชวนใครสนใจจะร่วมสนุกสามารถนำว่าวมาเล่นได้. 

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 58 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่กลางทุ่งนาหมู่ 3 ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หลังมีการโจษขานกันว่า ทุกวันจะมีชาวบ้านทั้งตำบล ที่ว่างจากการทำนาในหน้าแล้ง ร่วมทำกิจกรรมด้วยการนำเอาว่าวมากมายหลายชนิด และขนาด มาชักขึ้นเต็มท้องฟ้า

06-37

 

เมื่อไปถึงพบมีชาวบ้านจำนวนมาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พากันออกมาเล่นว่าว โดยมีว่าวตั้งแต่ขนาดเล็กเพียง 50 ซม. ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่กว้างถึง 4 เมตร มีการตกแต่งด้วยสีสันสวยงาม เป็นรูปแบบต่างๆ ขึ้นกระจายเต็มฟ้าเหนือท้องนาที่มีเนื้อที่กว่า 100 ไร่ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่ผ่านมาพบเห็น รวมทั้งยังสร้างความสนุกสนานให้บรรดาชาวบ้านที่นำว่าวมาเล่น มีความสุขทั้งคนเล่นและคนดู

นายสาลี หงษ์เวียงจันทร์ อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 20 ต.ดอนคา อ.อู่ทอง ที่เป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ว่าวไทยบ้านดอนคา เผยว่า ชาวบ้าน ต.ดอนคา ส่วนใหญ่มีเชื้อสายลาวเวียง ที่อพยพจากประเทศลาวมาตั้งรกรากอยู่ที่ ต.ดอนคา กว่า 100 ปีแล้ว สมัยก่อนหลังเกี่ยวข้าวเสร็จ ท้องนาว่าง เพราะไม่สามารถทำนาในหน้าแล้งได้ ชาวบ้านก็จะนำเอาไม้ไผ่มาเหลาขึ้นโครงทำว่าวเล่นกันเพื่อเป็นการผ่อนคลายและสนุกสนานภายในครอบครัว จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมา และค่อยๆ เลือนหายไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ต่อมาผู้นำชุมชนได้หารือกันรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ทุกวันนี้ชาว ต.ดอนคา ได้ออกมาเล่นว่าวเช่นเดิม โดยปัจจุบันในหมู่บ้านมีว่าวกันแทบทุกบ้าน

“ประเพณีการเล่นว่าวของชาวลาวเวียง ต.ดอนคานี้ จะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน และจะไปหยุดเล่นกันประมาณเดือนพฤษภาคม หรือจนกว่าจะถึงฤดูการทำนาในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ผู้นำชุมชนยังได้เตรียมการที่จะจัดให้มีการแข่งขันว่าวธนู และว่าวชนิดต่างๆ ในช่วงที่มีประเพณีงานบุญต่างๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย สำหรับผู้สนใจที่จะมาชม หรือนำว่าวมาร่วมเล่น สามารถมาได้ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเย็นๆ จะมีว่าวขึ้นเต็มท้องฟ้าให้ชมกันอย่างสวยงามตื่นตาตื่นใจ” นายสาลี กล่าว

เรื่องน่าสนใจ