ที่มา: New TV

ผู้ชายร่างสันทัดในชุดช่างสีขาวประดับริบบิ้นสีดำบนอกข้างซ้ายออกตัวหลังจากที่เชื้อเชิญให้นั่งในห้องรับแขกบรรยากาศสบายที่ซุกตัวอยู่ในอู่ซ่อมรถขนาดใหญ่ในย่านลาดพร้าว ขณะที่เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ ๑๘  ปีก่อนหน้านี้ยังเป็นเพียงอู่ทำสีเล็กๆ เท่านั้นเอง 

เขาคือ “นายช่างอนันต์ ร่มรื่นวาณิชกิจ” ประธานกรรมการบริษัท เอสเอ ออโต้ไฮเทค จำกัด อีกหนึ่งบุคคลที่ได้ ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะช่างดูแลรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี ๒๕๔๒ เมื่อมีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาที่อู่แล้วระบุว่าจะให้เขาทำสีรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งในตอนแรกเขาคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่น ไม่ได้คิดเป็นเรื่องจริงจังอะไร 

“คนที่มาหาที่อู่เป็นเจ้าหน้าที่ของกองยานเข้ามาตรวจสอบว่าเราพร้อมหรือสามารถทำหน้าที่ได้จริงหรือเปล่า ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องจริง เพราะตอนนั้นเรายังเป็นอู่เล็กๆ ขนาด ๒๐๐ กว่าตารางวา ยังไม่ได้ใช้ชื่อศูนย์ซ่อมเอสเอ ออโต้ ไฮเทคอย่างทุกวันนี้” นายช่างอนันต์ รำลึกความหลัง จนกระทั่งมีรถยนต์ รยล. เข้ามาที่อู่ โดยเจ้าหน้าที่คนเดิมซึ่งคราวนี้แต่งตัวแบบทางการ ทั้งมาพร้อมกับจดหมายจากสำนักพระราชวัง บอกว่าให้แต่งชุดสุภาพเพื่อพบรองราชเลขาธิการในวันรุ่งขึ้น เขาถึงได้รู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ซะแล้ว

และเมื่อวันรุ่งขึ้นมาถึง เขาก็แทบไม่เชื่อหูหัวตัวเองกับข่าวที่รองราชเลขาธิการได้แจ้งข้อเสนอมาว่า ถ้าจะให้ดูแลทำสีรถยนต์พระที่นั่งทั้งหมดจะทำได้ไหม โดยแทบไม่ต้องเสียเวลาคิดนายช่างอนันต์รีบตอบตกลงทันที โดยนายช่างอนันต์อธิบายถึงเหตุผลที่เขาได้รับเลือกให้ทำงานอันทรงเกียรตินี้ก็คือ

“ตอนนั้นเราได้รางวัลชนะเลิศจากโครงการช่างสีรถยนต์แห่งชาติของทางกรมพัฒนาสังคมฯ กระทรวงแรงงาน ในปี ๒๕๓๐ นอกจากนั้นเรายังมีศักยภาพในการทำงานมากกว่าอู่เล็ก ๆ ทั่วไป รวมทั้งมีอุปกรณ์ครบกว่า คือมีองค์ประกอบที่สามารถจะดูแลรถได้ ทางวังถึงได้เลือกผมให้ทำงานนี้”

รถยนต์พระที่นั่งคันแรกที่นายช่างอนันต์ได้ทำคือรถโรลส์รอยซ์ ที่เป็นรถยนต์พระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในพระราชพิธีสวนสนาม ในวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งยังความหนักใจมาให้เขาไม่น้อย

“รถพระที่นั่งคันแรกนี่ถือเป็นรถที่ประทับใจมากที่สุดเพราะเป็นรถที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุด ทะเบียน ร.ย.ล. ๙๗๒ วันแรกที่เห็นรถก็นั่งมองรถตั้งแต่ ๙ โมง ถึงตีสาม โดยก่อนที่เราจะทำสีรถก็ก้มกราบที่เยื้องพระบาทขึ้นรถยนต์ จากนั้นจึงเริ่มทำ ระหว่างที่ทำ ผมก็ยอมลงทุนเป็นหมื่นติดกล้องวงจรปิด ทั้งที่เราก็มีหนี้เยอะ แต่ก็เพื่อเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยกับพระองค์ท่าน ตอนนั้นแทบจะเรียกได้ว่าทั้งซ่อมทั้งนอนเฝ้ารถยนต์พระที่นั่งเลย”

ในระหว่างที่ซ่อมรถยนต์พระที่นั่งคันแรก เมื่อแม่ของนายช่างอนันต์ทราบเรื่องก็เสนอว่าให้ซ่อมถวายพระองค์โดยไม่คิดมูลค่าได้หรือไม่ เพื่อตอบแทนบุญคุณในฐานะคนจีนที่โล้สำเภามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ ซึ่งแม้ว่าเวลานั้นจะมีหนี้อยู่ ๑๐ ล้านบาท แต่ฝ่ายลูกก็ยินดีทำตามด้วยความเต็มใจ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แจ้งความจำนงค์ไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งให้สารถีมาบอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดที่นายช่างทำแบบนี้

“ถ้าพูดภาษาบ้านๆ คือเราทำไม่เป็น พอใช้คำว่าไม่มีค่าใช้จ่ายเลยเนี่ย พระองค์ไม่ทรงโปรด คือไม่ว่าเราจะทำเรื่องถวายในเรื่องอะไรก็ตาม ก็อยากให้รู้จักประมาณตนว่าอะไรควรถวาย อะไรไม่ควรถวาย ดูว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ”

หลังจากนั้นนายช่างอนันต์ก็ได้เป็นช่างดูแลรถยนต์พระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังดูแลรถยนต์พระที่นั่งของพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

“รถส่วนใหญ่ที่ผมเคยถวายงานนี่มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า ๒๐-๓๐ ปีทั้งนั้นเลยนะ สภาพเป็นรอยรอบคัน จนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมท่านถึงทรงงานหนักขนาดนั้น ประชาชนเห็นว่าท่านทรงงาน ๆ แต่จะรู้ไหมว่าสภาพรถที่ทรงงาน ใต้ท้องรถนี่สภาพกรำงานมาก แล้วพระวรกายท่านล่ะ”

ตลอดระยะเวลาร่วม ๒๐ ปีที่ปฏิบัติงานถวาย นายช่างอนันต์ทุ่มเททำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด พร้อมน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งที่ให้ประมาณตน ยึดเป็นหลักในการใช้ในชีวิตมาโดยตลอด กระทั่งกิจการเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ และปลดหนี้ทั้งหมดได้สำเร็จ

“จนถึงทุกวันนี้ ผมรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในทุก ๆ วันนี้ ทำให้เราอยู่ดีมีสุขมากขึ้น ผมตั้งใจว่านับจากนี้ไป ผมจะถ่ายทอดเรื่องราวอันดีงามของพระองค์ที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องออกไปให้ได้มากที่สุด เท่าที่ทำได้…แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กมากๆ ก็ตาม…เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีให้กับพสกนิกรทุกคนของพระองค์…แม้แต่ช่างทำสีตัวเล็กๆ อย่างผม” นายช่างอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องน่าสนใจ