ที่มา: มติชน

แบตสำรอง หรือพาวเวอร์แบงค์ อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือปลอมเครื่องหมายการค้า กว่า 20,662 ชิ้น ที่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจยึดได้จากร้านค้าย่าน ถนนเสือป่า มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท พร้อมจับกุมตัวนางสาวสุภาพร ตั้งสถาพรพันธ์ กับพวก และนายสุวัฒน์ จำรัสวิมลรัตน์ ผู้ต้องหา โดยยึดของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินคดี ข้อหา จำหน่ายเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรและหลีกเลี่ยงภาษีอากร

14431539061443153918l

นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สินค้าที่ตรวจยึดมาได้นั้น เป็นสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน และเป็นการแจ้งเบาะแสจากผู้เสียหาย ซึ่งสินค้าเหล่านี้อาจส่งผลต่อชีวิตของประชาชน และเป็นนโยบายการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ทางการค้าของรัฐบาล

ด้านนางสาวรัชดาวรรณ กีฬา ตัวแทนทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ซัมซุง เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาเป็นรายใหญ่ระดับประเทศ และสินค้านั้นอันตราย ซึ่งอาจเกิดการระเบิด เป็นอันตรายแก่ชีวิต โดยแกะภายในของพาวเวอร์แบงค์ลอกเลียนแบบให้ดู ซึ่งพบว่าภายในเป็นถุง และมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ คล้ายวงจรระเบิด

14431539061443153923l

ส่วนการสังเกตเบื้องต้นว่าพาวเวอร์แบงค์นั้นเป็นของจริงหรือไม่ ให้ดูที่ราคาถ้าราคาถูกมากเพียงไม่กี่ร้อยบาท ให้คำนึงว่าเป็นของปลอม และน้ำหนักของจริงจะหนักกว่าของปลอม เมื่อแกะภายในจะมีลักษณะเป็นชิพ ไม่ใช่ถุง และทางที่ดีควรซื้อสินค้าจากร้านค้าช็อปในห้างสรรพสินค้า หรือตัวแทนจำหน่าย

ทั้งนี้ประเทศไทยถูกสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ USTR จัดอันดับสถานะทางการค้าอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ PWL เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2550 ทำให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า จากสหรัฐฯ

เรื่องน่าสนใจ