ที่มา: Tnamcot

ผลสำรวจองค์กรภาคเอกชนสุ่มผักจากโมเดิร์นเทรดพบ กะเพรามีสารพิษเกินมาตรฐานสูงสุด แนะเแช่น้ำส้มสายชูล้างสารพิษก่อนรับประทาน

นางสาว กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า วัฒนธรรมการกินของไทยที่เปลี่ยนไปปัจจุบันกินอาหารในระบบอุตสาหกรรม โดยกินเข้าไปแบบไม่รู้ตัว ไม่ต้องการน้ำพริกมาช่วยชูรส ผักก็กินไม่กี่ชนิด แล้วใช้เครื่องปรุงรสอื่นมาช่วยแทน เช่น ผงปรุงรส และผงชูรส ทำให้กินหลากหลายน้อยลง

จึงเชื่อว่าเมื่อส่งเสริมให้คนไทยหันมากินน้ำพริกจะทำให้คนกินผักมากขึ้น และกินได้อย่างมีความสุข เพราะน้ำพริกมีความเข้มข้นมีความเผ็ดจึงทำให้กินผักได้เยอะ หรือไม่ต้องกินข้าวมากก็ได้สำหรับหลายคนที่กลัวอ้วน แต่ต้องเลือกผักที่เสี่ยงอันตรายจากสารเคมีปนเปื้อนให้น้อยที่สุด

1434793441-aa1c3f1781007f11e5d26514ab137c5a

ข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai PAN ที่นำเสนอในงานประชุมวิชาการสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2558 เปิดเผยการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผัก โดยเก็บตัวอย่างจากผัก ผลไม้ที่คนไทยนิยมกินมากที่สุด 10 ชนิด คือ คะน้า, ผักกาดขาว, กะหล่ำปลี, แตงกวา, ถั่วฝักยาว , มะเขือเปราะ, พริกแดง, กะเพรา, กวางตุ้ง, และผักบุ้งจีน จากห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรด และผักที่มีตราเครื่องหมาย Q รับรอง พบข้อมูลว่าผักที่พบการปนเปื้อนมากที่สุด คือ กะเพรา มีสารพิษเกินมาตรฐานถึง ร้อยละ 62.5 รองลงมา คือ ถั่วฝักยาว, คะน้าร้อยละ 32.5 ส่วน ผักบุ้งจีน, กวางตุ้ง, มะเขือเปราะ พบสารพิษเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 25 และ แตงกวา, พริกแดง ร้อยละ 12.5

ขณะที่ผลการตรวจสารเคมีปนเปื้อนในเลือด ที่เครือข่าย Thai Pan ตรวจให้ประชาชนที่มาร่วมงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไทย เมื่อปี 2557 โดยเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลง ปนเปื้อน 2 กลุ่ม คือ คาร์บอเนต และ ออร์แกโนฟอสเฟต พบว่า ในจำนวนประชาชนที่มาตรวจ 963 คน เกินกว่าครึ่งหรือ ร้อยละ 53.37 เสี่ยงจากสารเคมีตกค้าง, ร้อยละ 13.81 มีสารตกค้างในระดับที่ไม่ปลอดภัย, ร้อยละ 31.67 มีสารเคมีตกค้างระดับที่ปลอดภัย และมีเพียงร้อยละ 1.14 เท่านั้นที่พบว่าปกติ

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai PAN ยอมรับเป็นสิ่งที่น่ากังวลหากผู้บริโภคไม่ทราบถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายตัวเอง โดยเฉพาะการบริโภคผัก ผลไม้ ที่มีการใช้สารเคมียาฆ่าแมลงตั้งแต่ต้นทางการผลิตในปริมาณสูง จนเรียกได้ว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงสูงกว่าเกษตรกรด้วยซ้ำ “แม้สารเคมีประเภทนี้ร่างกายจะสามารถขับออกมาได้ด้วยตัวเอง แต่การหลีกเลี่ยง และเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมีความสำคัญ โดยควรเลือกซื้อจากการทำเกษตรอินทรีย์ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรล้างผัก ผลไม้ ด้วยน้ำส้มสายชู โดยนำน้ำส้มสายชู 1 ส่วนผสมน้ำ 10 ส่วน แช่ไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ก่อนบริโภค จะช่วยลดความเสี่ยงสารเคมีตกค้างได้” ผู้ประสานงานครือข่าย Thai PAN ระบุ

เรื่องน่าสนใจ