ตรวจสอบรายชื่อแพทย์ และเลขที่ใบอนุญาตคลินิกศัลยกรรม เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะเราควรต้องตรวจสอบข้อมูลว่า เป็นแพทย์จริงหรือไม่ที่ มีใบอนุญาตที่ถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งการตรวจสอบก็ไม่ยากเลยค่ะ 

เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตผู้คนที่ต้องพังพินาศ เนื่องจากการทำศัลยกรรมถูกนำเสนอเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง สะท้อนถึงความอยากสวย อยากหล่อ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นรสนิยมความชอบส่วนตัว ซึ่งเราจะได้เห็นข่าวคราวที่ออกมา เกี่ยวกับหมอเถื่อนและสถานพยาบาลเถื่อนอยู่บ่อยครั้ง เหตุการณ์เช่นนี้จะช่วยให้เราเตรียมพร้อมกับความอยากสวย อยากงาม ที่ถูกวิธีได้อย่างไร? 

 

เกร็ดความรู้เล็กๆ จากหมอบัว (นพ. วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์)
กรรมการสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย

คนไข้ที่จะเข้าทำการรักษาหรือตกแต่งทำศัลยกรรม มีปัจจัยเรื่องความปลอดภัยที่อาจจะต้องระมัดระวังอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 มีอยู่ 5 ปัจจัย ที่เราต้องพิจารณา ดังนี้

  • หัตถการเหมาะสม
    ไม่เสี่ยง ไม่ใช่แค่ปังไม่ปัง คือต้องดูว่าที่เราจะทำนั้น เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย เช่น ทำเลเซอร์ หรือ เป็นการผ่าตัดที่เสี่ยงสูง
  • แพทย์ตัวจริง
    ต้องตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ให้บริการ แพทย์คนไหนเป็นคนทำให้เรา เพราะหากเป็นแพทย์ตัวจริงต้องตรวจสอบได้ ต้องซื่อสัตย์ วุฒิการศึกษาได้รับการรับรอง ไม่ใช่การแปะวุฒิต่างๆ เข้าคอร์สระยะสั้น แต่ไม่ใช่หลักสูตรที่รับรองโดยสถาบันฝึกอบรม ซึ่งมักเป็นโรงเรียนแพทย์ เช่น จุฬาฯ, รามา, ศิริราช, เชียงใหม่, ขอนแก่น ฝึก 5-7 ปี และสามารถตรวจสอบผ่านทางแพทยสภาได้ทันที ตามเว็บไซต์ tmc.or.th/check_md
    ตรวจสอบรายชื่อแพทย์
  • อุปกรณ์และห้องต่างๆ
    ต้องตรวจสอบและสังเกตให้ดี เช่น อุปกรณ์ผ่าตัด อุปกรณ์ให้ยาสลบ เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ช่วยชีวิต มีพร้อมหรือไม่ ดูความสะอาดของห้องปลอดเชื้อ ห้องผ่าตัด ห้องพักฟื้น ห้องพักดูอาการ และการแอดมิทอาจจำเป็น หากทำไปแล้วมีปัญหา มีห้องไอซียู มีระบบส่งต่อหรือไม่
  • วิธีการให้ยาสลบ หรือยาชา
    ต้องตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร ให้โดยใคร มีความปลอดภัยหรือไม่ รวมทั้งการมอนิเตอร์ต่างๆ ต้องรัดกุม แพทย์ท่านเดียวเอาอยู่ไหม หากเคสมีความซับซ้อนหรือมีปัญหาแทรกซ้อนใครจะดูแล รวมถึงเรื่องสัญญาณชีพต่างๆ มีวิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาลที่ดูแลด้านนี้หรือไม่
  • คนไข้
    ต้องตรวจสอบว่าคนไข้ที่จะเข้ารับการบริการนั้น มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมผ่าตัดหรือไม่ มีโรคประจำตัว แพ้ยาหรือไม่ พักผ่อนมาเพียงพอหรือไม่ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบทั้งก่อนรักษา ระหว่างรักษา และหลังการรักษา เพราะคงไม่มีใครมาดูแลเราได้ 100% สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องดูแลตัวเองและตรวจสอบให้รอบคอบ

ในขณะที่ความปลอดภัยที่ต้องคำนึงในระดับที่ 2 นั้น เป็นเรื่องของแพทย์ ตัวบทกฎหมาย และผู้ตรวจสอบในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย จะต้องทำงานร่วมกันอย่างเคร่งครัด แพทย์ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ กฎหมายที่ล้าหลังควรถูกปรับปรุงแก้ไขให้ชัดเจน ระบุถึงสิทธิและหน้าที่ การกระทำผิดกฎหมายให้มีความละเอียดมากขึ้น และผู้ตรวจสอบจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่หลับตาข้างเดียว เพราะผลที่ตามมาก็คือชีวิตและร่างกายของคนไข้

ในส่วนของการตรวจเช็คสถานประกอบการ (ตรวจสอบคลินิก) ว่าคลินิกที่เราจะเข้าไปใช้บริการนั้น เป็นคลินิกประเภทใด มีใบอนุญาตที่ถูกต้องหรือไม่ ให้เข้าไปที่เว็บ privatehospital.hss.moph.go.th แล้วใส่ชื่อโรงพยาบาล / คลินิก หรือเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก ที่เราต้องการตรวจสอบลงไปในช่องได้เลยค่ะ

ตรวจสอบรายชื่อแพทย์

หากตรวจสอบแล้ว ไม่มีข้อมูลใดๆ ขึ้น ทั้งแพทย์ และสถานประกอบการ อาจจะเป็นของเถื่อนที่เราควรหลีกเลี่ยง เพราะผิดพระราชบัญญัติสถานพยาบาล สามารถโทรสอบถามได้ที่สำนักสถานพยาบาลฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-1937999 ซึ่งสำนักสถานพยาบาล จะมีอำนาจตามกฎหมาย โดยจะมีเจ้าพนักงานไปจับกุมได้ อย่างที่เราได้เห็นกันตามข่าว ร่วมกับแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ และจะรายงานมาที่แพทยสภาเป็นพยาน เพื่อดำเนินคดีร่วมกันต่อไป

••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••

ในส่วนของกรณีที่คลินิกถูกต้อง แต่หมอจริงยอมให้หมอเถื่อนเข้าไปทำงานในคลินิก ทางแพทยสภา ก็จะดำเนินคดีจริยธรรมกับหมอเช่นเดียวกันค่ะ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

 

เรื่องน่าสนใจ