หากถามถึงอาชีพในฝันของ “คนรุ่นใหม่” ในศตวรรษที่ 21…หนุ่มสาวหลายคนคงนึกไปถึงภาพตัวเองใส่สูทผูกไท แต่งตัวสวยไฮไซ ทำงานสะดวกสบายในออฟฟิศติดแอร์เย็นฉ่ำ แต่ทว่าในมุมกลับ กลับเห็นภาพคนหนุ่มสาวทิ้งสังคมเมืองหันไปใช้วิถีชีวิต “เกษตรกร” ทำไมหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งจึงเลือกมอง “ต่าง”
มีเรื่องราวน่าสนใจจากวงสนทนาของเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มองเห็นคุณค่าและความหมายลึกๆ ซ่อนอยู่ในอาชีพเกษตรกรรม ที่พวกเขาแวะเวียนมาเจอกันในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เครือข่ายเกษตรกรกล้าใหม่” ที่ จังหวัดมหาสารคาม เมื่อเร็วๆ นี้
“ผมมีรายได้จากการขายผักสลัดให้กับร้านสเต๊ก หักค่าใช้จ่ายแล้ว กำไรเดือนละ 2 แสนบาท ในจำนวนนี้ไม่รวมเงินเดือนที่ผมจะกันไว้เป็นค่าตอบแทนให้ตัวเอง เดือนละ 2 หมื่นบาท” โจ้-จิรายุทธ ภูวพูนผล อายุ 25 ปี เจ้าของสวนผักและร้านสเต๊ก “โอ้กะจู๋” อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและยิ้มอย่างมีความสุข
ด้วยต้นทุนเดิมที่สนใจการปลูกผัก และต้นทุนใหม่คือความรู้ที่เรียนจบมาโดยตรงในด้านการเกษตรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ โจ้ รู้จุดอ่อนของเกษตรกรรุ่นเก่า คือการหาช่องทางการตลาดและจัดจำหน่าย คุณโจ้และเพื่อนจึงร่วมหุ้นกันเปลี่ยนลานจอดรถ ขนาด 2 ไร่ ให้เป็นสวนผัก และเปิดร้านอาหารติดกัน โดยใช้ผักที่ปลูกเองเป็นวัตถุดิบ
เมื่อผนวกสายตาของคนรุ่นใหม่เข้ากับเรื่องการตลาด คุณโจ้ยังใช้สื่อใหม่อย่างโซเชี่ยลมีเดีย Facebook.com เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักสวนผักและร้านสเต๊กโอ้กะจู๋มากยิ่งขึ้น
ภาพผักสลัดสดใหม่และภาพอาหารหน้าตาน่ารับประทานที่โพสต์ขึ้นสังคมออนไลน์อยู่ไม่ขาด ก็ส่งผลให้มีแฟนเพจแวะเวียนมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การตกแต่งหน้าร้านให้มีจุดถ่ายภาพและชมวิวแปลงผักระหว่างรับประทาน ก็ยิ่งทำให้ร้านมีเอกลักษณ์โดดเด่น การันตี “ปลูกได้และขายเป็น”
อีกหนึ่งตัวอย่าง เกษตรกรรุ่นใหม่เป็นหนุ่มน้อยจาก อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร เก้า-ธีรพงษ์ สุขสวรรค์ บัณฑิตหนุ่มวัยเบญจเพส จบจากสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เก้า เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อและแม่เป็นชาวนา ซึ่งทั้งคู่ก็คาดหวังให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนทำงาน “นั่งโต๊ะ” มากกว่าจะลงนาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ
“แต่แล้วชีวิตก็เกิดจุดเปลี่ยน ผมเกือบถูกงูพิษกัดตาย ผมเลยได้คิดว่า ชีวิตคนเรามันสั้นเท่านี้เองนะ ถ้าเราอยากจะทำอะไรก็ให้ทำซะเลย สิ่งที่คิดได้ในเวลานั้นคือ การเกษตร ซึ่งวนเวียนอยู่ในหัวผมมาตั้งแต่เด็ก เพราะเราอยู่กับเขามาตลอด ผมรู้ว่าถ้าผมอยู่กับสิ่งนี้แล้วผมจะมีความสุข”
ปัจจุบัน คุณเก้าได้พิสูจน์ตัวเองจนพ่อแม่ยอมรับและไว้วางใจให้ดูแลแปลงปลูกข้าวของครอบครัวอย่างครบวงจร รวมพื้นที่ราว 100 ไร่ และปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกจากใช้สารเคมีมาเป็นการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องสุขภาพของคนในครอบครัว
ขณะที่การปลูกพืชวิธีนี้ยังช่วยลดต้นทุน และผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด คุณเก้าบอกด้วยว่า เขากำลังมีแผนสร้างเตาอบข้าวเปลือก ขนาด 30 ตัน ไว้รองรับผลผลิตในฤดูเก็บเกี่ยว โดยนำความรู้ที่เรียนมาในสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์มาปรับใช้
ที่มา thaiinfonet.com