เรียบเรียงโดย Dodeden.com
นี่คือฉลองพระองค์ชุดสากลในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ที่ทรงให้นักออกแบบไทยและต่างชาตินำผ้าไหมไทยมาใช้ในการตัดเย็บ ทำให้ผ้าไทยที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์และเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ถือเป็นพระราชกุศโลบายในการเผยแพร่และส่งเสริมผ้าไทย รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมด้านการแต่งกายของสตรีไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยนั้นมีความงดงาม สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น ทำให้เกิดความนิยมสวมใส่ชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อปีพ.ศ 2519 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ขึ้น โดยทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสนับสนุนให้ราษฎรประกอบอาชีพเสริมด้านหัตถกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมการใช้ผ้าไทย โดยพระราชทานโอกาสให้นักออกแบบเสื้อผ้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินำผ้าทอฝีมือชาวบ้านไปออกแบบตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ที่ทรงในวาระสำคัญต่างๆ ทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล
ฉลองพระองค์แบบสากล
ห้องเสื้อจิวองชี โดย อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน (2000)
ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่และผ้าไหมลายเกล็ดเต่า พิธีรับเสด็จอย่างเป็นทางการ ในโอกาสที่ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 16-30 ตุลาคม 2543 ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ฉลองพระองค์ชุดราตรี
ห้องเสื้อบัลแมง (1979)
ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ลายขอ ส่วนบนตกแต่งด้วยผ้าจกไท-พวน ลายเครือกลาง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรส จากผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมหาราชวัง วันที่ 12 พฤษภาคม 2522
ฉลองพระองค์ชุดราตรี
ห้องเสื้อบัลแมง (1981)
ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่สีส้มเขียว ลายกอตะไคร้ ปลายแขนตกแต่งด้วยขนนก ทรงในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ สโมสรสึนามาชิ มิตซุย กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 12 มีนาคม 2524
ฉลองพระองค์ชุดราตรี
ห้องเสื้อบัลแมง (1981)
ตัดเย็บจากผ้าไหมพื้น พระสนับเพลาด้านในตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ และทรงทับด้วยพระภูษา (แบบกระโปรง) ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ลายต้นสนและลายนาคชูสน ทรงในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมดัลลัส สหรัฐอเมริกา วันที่29 ตุลาคม 2524
ฉลองพระองค์ชุดราตรี
ห้องเสื้อบัลแมง (1979)
ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ลายโคมห้า ปักประดับลูกปัด พลอย และดิ้นทอง งานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นการส่วนพระองค์ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา วันที่ 12 สิงหาคม 2522
ฉลองพระองค์ชุดราตรี
ห้องเสื้อ ฌอง-หลุยส์ แชร์เรร์ โดย อีริก มอร์เทนเซน (1992)
ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ลายโคมห้าและผ้ากำมะหยี่ ปักประดับด้วยดิ้นทอง ลูกปัดและเลื่อม ทรงในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ UNICEF Special Recognition Award จากองค์การกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และรางวัล UNIFEM Award of Excellence โดย องค์การพัฒนาสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 2 สิงหาคม 2535
ฉลองพระองค์ชุดราตรี
ห้องเสื้อภา (1990)
ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ ปักประดับด้วยลูกปัดและคริสตัล เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการมัดหมี่ไหมไทย สายใยชนบท ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมหาราชวัง วันที่ 4 สิงหาคม 2533
ฉลองพระองค์แบบสากลและผสมผสานไทย
ห้องเสื้อบัลแมง โดย อีริก มอร์เทนเซน (1985)
ตัดเย็บจากผ้าแพรวา ส่วนภูษา (แบบกระโปรง) และพระสนับเพลา (แบบโจงกระเบน) ตัดเย็บจากผ้าไหมพื้น ทรงในโอกาสแสดงพระราชดำรัสปาฐกถา ณ หอประชุมใหญ่วิทยาลัยแอมบาสเซเดอร์ เมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2528
ฉลองพระองค์แบบสากล
ห้องเสื้อบัลแมง (1980)
ตัดเย็บจากผ้าจกไท-ยวน ทรงในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา โดยมีนางโรซารีน คาร์เตอร์ ภริยาประธานาธิบดีจิมมี คาเตอร์ เฝ้าฯ รับเสด็จ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2523
ฉลองพระองค์แบบสากล
ห้องเสื้อฌอง-หลุยส์ แชร์เรร์ โดยนายอีริก มอร์เทนเซน (1997)
ฉลองพระองค์คลุมตัดเย็บจากผ้าไหมขิด ปลายแขนหุ้มด้วยขนสัตว์ ทรงเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ณ หอไอเฟล กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส วันที่ 16 เมษายน 2540
ฉลองพระองค์ชุดราตรี
ห้องเสื้อยุทธพงศ์ (2007)
ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ ปักประดับด้วยลูกปัด เลื่อม และปีกแมลงทับ ทรงในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ซึ่งมีนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดี แห่งสหพันธรัฐรัสเซียจัดถวาย เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2550 ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย อย่างเป็นทางการ
จากผ้าไหมพื้นบ้านที่ใกล้จะสูญหาย สู่ฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทำให้ชาวไทยเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญต่อผ้าไหมไทย ซึ่งถือเป็นงานศิลปะท้องถิ่นของราษฎรโดยแท้ความงดงามของผ้าไหมไทยได้ถ่ายทอดผ่านฉลองพระองค์ในรูปแบบต่างๆ ผ้าจากภูมิปัญญาชาวบ้านจึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ชาวไทยสวมใส่ผ้าไทยในโอกาสต่างๆ รวมถึงชาวต่างชาติต่างก็ชื่นชมในความงามอันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมไทย สมดังพระราชปณิธานที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพเสริมจนพัฒนามาเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้อันยั่งยืนให้แก่ราษฎรแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป