เรียบเรียงโดย Dodeden.com
ว่ากันว่าในเรื่องของเซนส์ทางด้านแฟชั่นของมนุษย์นั้นมีตั้งแต่สมัยโบราณกาล ไม่ใช่เพิ่งจะมาบูมเอาในศตวรรษนี้ซะเมื่อไหร่ หลักฐานมีให้เห็นอยู่ในภาพชุดนี้เเล้วค่ะ เมื่อเราได้มีโอกาสยลโฉมแฟชั่นของชาวสยามในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งในสมัยนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูทางด้านแฟชั่นเลยก็ว่าได้ เพราะพระองค์ท่าน ร.6 ทรงเดินทางไปศึกษายังต่างแดนตั้งเเต่ยังทรงพระเยาว์ อีกทั้งยังเป็นยุคที่ประเทศไทยเริ่มรับวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามา การเปลี่ยนแปลงทางด้านแฟชั่นจึงเกิดขึ้น
ต้นรัชกาล (ช่วงปีพ.ศ. 2453)
สตรีชาวสยามจะเริ่มมีการใช้เครื่องสำอางแบบตะวันตกกันมากขึ้น นุ่งซิ่นสูง เริ่มนุ่งซิ่นสูงไม่กรอมเท้า ใส่ถุงเท้าคู่รองเท้าหนัง สวมเสื้อที่แต่งด้วยผ้าลูกไม้แบบยุโรปสวยงาม ซึ่งจะมีทั้งแบบคอกลม คอแหลม คอสูง และแบบปก จากที่เมื่อก่อน ผู้หญิงจะนุ่งผ้าลายโจงกระเบน ห่มผ้าแพร ห่มสไบ ไม่สวมเสื้อ จากที่สวมคอร์เซ็ตก็หันมาใส่บราเซียเเทน
กลางรัชกาล (ช่วงปี พ.ศ 2460)
หลังจากที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 แฟชั่นของผู้หญิงไทยก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่ชื่นชอบความหรูหราสไตล์ตะวันตก ก็กลับกลายมาเป็นความเรียบง่าย เช่นการนุ่งซิ่น เน้นเสื้อที่เป็นลายลูกไม้และทำมาจากผ้าแพรซะส่วนใหญ่ นำเข็มขัดที่ประดับประดาด้วยริบบิ้น ลูกปัด และมุก มาคาดทับอีกครั้ง ส่วนเครื่องประดับที่ผู้หญิงในสมัยนั้นนิยมใช้กันมากๆ ก็คือที่คาดผมแบบผ้าไหมสักหลาดประดับเพชร อีกทั้งยังเริ่มนิยมการสวมใส่นาฬิกา และรองเท้าส้นสูงแบบคัทชู
ปลายรัชกาล (ช่วงปี พ.ศ 2468)
ช่วงนี้ ผู้หญิงไทยเริ่มกลับมานิยมเทรนด์แฟชั่นแบบหรูหรา เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากนิตยสารแฟชั่นต่างประเทศ และเทรนด์สาวปารีเซียงจากฝรั่งเศสก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ผู้หญิงไทยเริ่มใส่กระโปรงแบบตะวันตก และเห็นแฟชั่นของหมวกรูปแบบต่างๆ เปลี่ยนจากผมเกล้าสูงตีพอง เป็นแบบผมสั้นสั้นดัดลอนให้สวยหวาน หากเป็นหญิงที่มั่นใจในตัวเองก็มักจะตัดผมทรงบ๊อบ และสวมเครื่องประดับสไตล์ Art Deco ซึ่งกำเนิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส และเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา เป็นสไตล์ที่มีการใช้สีสันที่สว่างสดใส เส้นสายอ่อนช้อยงดงาม หรูหราและมีความเป็นสมัยใหม่ผสมอยู่ด้วย
ชุดแต่งงานฝรั่งและเทรนด์ถ่ายภาพเวดดิ้ง
นอกจากชุดที่ใส่กันในชีวิตประจำวันเเล้ว ผู้หญิงไทยก็ยังชื่นชอบชุดแต่งงานสไตล์ยุโรปอีกด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไหมสีขาว พร้อมผ้าคลุมผมประดับด้วยลูกไม้ เช่นกันกับการถ่ายภาพในสตูดิโอที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเช่นกัน ซึ่งถ้าหากเป็นในสมัยก่อนหน้า การโพสท่าถ่ายรูปของคู่บ่าวสาว ผู้หญิงจะต้องไปยืนข้างหลัง เพื่อสื่อถึงความเป็นช้างเท้าหลังของครอบครัว แต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น ผู้หญิงสามารถถ่ายรูปพรีเวดดิ้งโดยการยืนหรือนั่งในตำแหน่งเดียวกันได้เเล้ว รวมไปถึงการโพสท่าที่ไม่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างหญิงชาย สื่อถึงสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันมากขึ้น
นอกจากการแต่งกายจะเป็นตัวที่บ่งบอกถึงรสนิยมของแต่ละยุคสมัยเเล้ว ยังมีความหมายแฝงถึงเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแต่งตัวของผู้หญิงไทยในสมัยก่อนด้วย จากที่เคยต้องแต่งตัวตามขนมธรรมเนียมประเพณี ก็กลับได้รับความอิสระในความชอบของตนเองมากยิ่งขึ้น ถึงเเม้ว่าตัวแปรจะเป็นเทรนด์แฟชั่นที่มาจากโลกตะวันตกก็ตาม อย่างไรซะ สาวไทยก็ยังคงความงดงามมาตั้งเเต่รุ่นบรรพบุรุษจริงๆ ค่ะ