เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com
ในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 6 ขบวนกองทหารม้า จะเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญของไทย และเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี
คำว่า พระบรมอัฐิ หรือ พระอัฐิ หมายถึงกระดูก จะเก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร หมายถึง เถ้ากระดูก เป็นส่วนที่เหลือหลังจากการถวายพระเพลิง โดยอัญเชิญไปประดิษฐานตามพระอารามหลวงต่างๆ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
บริเวณวัดนี้ เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวง บดินทร ไพศาลโสภณ วัดราชบพิธฯ เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2412 (สมัยรัชกาลที่ 5) เสร็จในปี พ.ศ. 2413 แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษาอยู่ พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ร.5 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ โดยสร้างเลียนแบบ 2 วัดคือ วัดพระปฐมเจดีย์ และ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 โดยภายในวัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง
ตัวพระอุโบสถภายนอกสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ประกอบด้วยลวดลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพประนม(มือ) ภายในเป็นสถาปัตยกรรมโกธิค พระประธานคือ พระพุทธอังคีรส ภายใต้พระประธานมิได้เพียงบรรจุพระสรีรังคารของ ร.5 เพียงเท่านั้น ยังบรรจุพระสรีรังคารของพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ด้วย
การวางตัวของพระอุโบสถกับพระวิหารเป็นแบบวัดพระปฐมเจดีย์ คือวางแนวทิศตรงกันข้าม โดยด้านข้างจะมีทางเข้าไปในรอบ ๆพระเจดีย์ ข้างในพระเจดีย์มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่ด้วย ซึ่งเล่ากันมาว่าขุดพบใต้ต้นตะเคียนริมคลองหลอด ซึ่งเชื่อกันว่าคนที่อยากมีลูกมาขอพรก็จะมีลูกสมใจ ภายในพระเจดีย์ยังมีทางขึ้นไปบนฐานเจดีย์ด้วย ในอดีตสามารถมองเห็นภูเขาทองได้ด้วย
ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดได้แก่ บานประตู และหน้าต่างของพระอุโบสถที่มีลายไทยลงรักประดับมุก เป็นรูปดวงตราครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ สวยงามมาก
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม คำว่าสถิตมหาสีมาราม หมายถึงการมีเขตเสมาใหญ่มากล้อมรอบทั้งวัด แทนที่จะมีแค่ เสมารอบ ๆ พระอุโบสถเท่านั้น และที่น่าสนใจอีกอย่างคือกระเบื้องเบ็ญจรงค์ ทั้งพระอุโบสถ วิหารและเจดีย์ ระเบียงแก้ว ล้วนตกแต่งด้วย ลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ทั้งสิ้น และทุกแผ่นเขียนด้วยมือ และออกแบบรูปทรงกระเบื้องขนาดต่างๆ ลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าเจดีย์ ระเบียง พระอุโบสถ ซึ่งมีรูปทรงอ่อนช้อย แต่ทุกอย่างลงตัว