ทำงานหนักจนเจ็บตา อาจเกิดโรคของดวงตา ที่คุณไม่ควรนิ่งนอนใจ !

 

ทำงานหนักจนเจ็บตา

 

เพราะดวงตา เป็นอวัยวะที่สําคัญในร่างกาย หากมีอันตรายเกิดขึ้นต่อดวงตาแล้ว สามารถทําให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร จนกลายเป็นผู้พิการทางสายตาได้

ทำงานหนักจนเจ็บตา อาจเกิดโรคตาจากการทํางาน

โรคตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ (Computer vision Syndrome : CVS) พบได้ถึงประมาณร้อยละ 80 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป อาการทางตาที่สําคัญและพบบ่อยที่สุดของ โรคซีวีเอส คือ แสบตา เคืองตา ตาแห้ง เมื่อยตา สู้แสงไม่ได้ บางรายเป็นมากถึงขั้นรู้สึกตาพร่ามัว ปวดตา ปวด กระบอกตา อาการดังกล่าวอาจเป็นน้อยบ้าง มากบ้าง แตกต่างกันในระหว่างบุคคล ส่วนใหญ่จะเป็นอาการก่อความรําคาญ ไม่สบายตา บั่นทอนการทํางาน  สาเหตุเกิดจาก

 

  • อัตราการกระพริบตาลดลง
    โดยปกติคนเราทุกคนจะต้องกระพริบตาอยู่ตลอดเวลา เพื่อเกลี่ยน้ำตาให้คลุมผิวตาให้ทั่ว โดยมีอัตรากระพริบตาปกติประมาณ 20 ครั้งต่อนาที แต่หากเราอ่านหนังสือ หรือทำงานหน้าคอม ตาก็ต้องจับอยู่ที่ตัวหนังสือ อัตราการกระพริบตาจึงลดลง โดยเฉพาะการจ้องหน้าคอมพิวเตอร์จะกระพริบตาลดลง กว่าร้อยละ 60 จึงทําให้ผิวตาแห้ง แสบตา เคืองตา คันตา

 

  • มีแสงจ้าและแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์กระทบตา
    แสงสว่างในห้องไม่พอเหมาะมีไฟส่องหน้า หรือแม้แต่แสงสว่างจากหน้าต่างสะท้อนเข้าตา แสงจ้า และแสงสะท้อนทําให้เมื่อยล้าตาได้ง่าย

 

ทำงานหนักจนเจ็บตา

 

  • คลื่นแสงที่หน้าจอ (refresh rate)
    ที่ทําให้ภาพบนจอออกเป็นแสงกระพริบ ภาพที่เกิดหน้าจอเกิดจากจุดเล็ก ๆ หลายจุดที่เรียกกันว่า พิเซล (pixel) ซึ่งมาจากคลื่นไฟฟ้าในเครื่องวิ่งไปชนกับพื้นหลังของจอที่เคลือบด้วยฟอสฟอรัส (phosphorus) ลักษณะของพิเซลแต่ละจุดมีความสว่างไม่เท่ากัน สว่างมากตรงกลางและจางลงบริเวณขอบๆ จึงเห็นเป็นภาพกระพริบ ก่ออาการเคืองตาเมื่อต้องจ้องอยู่ตลอดเวลาได้ ถ้าปรับ refresh rate ให้ได้ขนาด 70-85 Hz (hertz) แสงกระพริบจะน้อยลง 
    นอกจากนั้น ตาคนเรายังปรับโฟกัสให้เห็นภาพขนาดต่างๆ กันได้ดี ในภาพที่มีขอบเขตชัดเจน มีความแตกต่าง ความคมชัดที่ดี แต่ภาพจากคอมพิวเตอร์ขอบเขตไม่ชัด ทําให้ตาต้องปรับโฟกัสอยู่เรื่อยๆ จึงเกิดการเมื่อยล้าตาได้ง่ายกว่าการอ่านหนังสือปกติมาก

 

  • มีโรคตาบางอย่างประจําตัวอยู่
    เช่น ต้อหินเรื้อรัง ม่านตาอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง ตลอดจน โรคทางกาย เช่น ไซนัสอักเสบ หวัด ภูมิแพ้เรื้อรัง หรือ ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อต้องปรับสายตามาก เวลาใช้คอมพิวเตอร์จึงก่อให้เกิดอาการเมื่อยตาได้ง่าย

 

  • การทํางานจ้องจอภาพนานเกินไป
    ไม่ว่าจะเกิดจากงานเร่ง หรือมีหน้าที่อยู่หน้าจออย่างเดียว ย่อมเกิดอาการทางตาได้ง่าย จากการเกร็งกล้ามเนื้อตาตลอดเวลา

 

ทำงานหนักจนเจ็บตา

การแก้ไขและป้องกัน 

  • ฝึกกระพริบตาขณะทํางานหน้าจอทุก 1-2 ชั่วโมงหรือ บ่อยกว่านี้ และหากแสบตามาก อาจใช้น้ำตาเทียมช่วย (ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ)

 

  • ปรับห้องและบริเวณทํางาน อย่าให้มีแสงสะท้อนจากหน้าต่าง จากหลอดไฟบริเวณเพดานห้องอย่าให้แสงสะท้อนเข้าตา อย่าให้จอภาพหันเข้าหน้าต่าง การใช้แผ่นกรองแสง หรือใส่แว่นกรองแสง (ปรึกษาหมอตาก่อน) อาจลดแสงสะท้อนเข้าตาได้บ้าง

 

  • จัดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ในระยะทํางานพอเหมาะที่ตามองได้สบายๆ โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็นระดับ 0.45 ถึง 0.50 เมตร จอภาพควรตั้งสูง ระดับ 0.72-0.75 เมตร เหนือพื้นห้อง

 

ทำงานหนักจนเจ็บตา

 

 

  • ปรับเก้าอี้นั่งให้พอเหมาะ ให้ตาอยู่สูงจากพื้นโดยเฉลี่ย 1.0-1.15 เมตร ตาควรอยู่สูงกว่าขอบบนของจอภาพเล็กน้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ใช้แว่นตาสองชั้น จะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตา เพื่อจะได้ตรงกับเลนส์แว่นตาส่วนที่ใช้มองใกล้ การตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตา จะทําให้ไม่ต้องแหงนหน้ามอง ซึ่งการแหงนหน้านานๆ ทําให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอ และหัวไหลได้ง่าย ถ้ามีสายตาผิดปกติหรือโรคตาบางอย่างอยู่ ควรแก้ไขและรักษาโรคตาที่เป็นอยู่ควบคู่ไปด้วย

 

  • หากหน้าที่ต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทุก 1-2 ชม. ควรมีการพักสายตา โดยละสายตาจากหน้าจอ แล้วมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาทํางานใหม่ หากเป็นไปได้ ควรทํางานหน้าจอภาพวันละ 4 ชม. เวลาที่เหลือไปทํางานอื่นบ้าง

 

โรคตาจากการทํางาน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของลูกตา และนํามาซึ่งสาเหตุทําให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร จนกลายเป็นผู้พิการทางตาได้ ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ โดยต้องสร้างความตระหนักถึงการสูญเสีย และถ้ามีเหตุการณ์จากการทํางานเกิดขึ้นแล้ว ควรต้องมีการประเมินและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ก่อนส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญทําการรักษาต่อไป เพื่อไม่ให้มีการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรค่ะ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ