ทำไมต้องอาย!!? หากทำอาชีพสุจริตแล้วจะอายใคร!?! ในวันนี้เราได้รวบรวมบุพการี หัวใจแกร่ง แม้จะทำงานอย่างยากลำบาก แต่ก็สามารถส่งเสียลูกรักให้ได้เรียนถึงฝั่งฝัน สามารถสอยปริญญา ซึ่งจะมีใครกันบ้างนั้น โปรดติดตาม…
ป้าอ้อย หญิงเก็บขยะ ส่งลูกเรียนจบดอกเตอร์!!
เรื่องราวของผู้เป็นแม่ที่สู้ชีวิตอย่างไม่ย่อท้อรายนี้ ถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่บ้านเลขที่ 27/12 ถนนปริมินทรมรรคา ซอย 3 ต.ท่าตะเภา ในเขตเทศบาลเมืองชุมพร นางบุษรี จุลเพ็ญ อายุ 63 ปี หรือที่ชาวชุมพรเรียกว่า “ป้าอ้อย” มีอาชีพเก็บขยะขาย
ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านเช่าชั้นเดียวอยู่ท้ายซอย ที่หน้าบ้านมีกองขยะประเภทกระดาษ ลังกระดาษ พลาสติก เศษเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าเสียชำรุดกองพะเนินอยู่จำนวนมาก และมีรถจักรยานยนต์ที่ใช้รถเข็นพ่วงท้าย ยานพาหนะคู่ชีพที่ “ป้าอ้อย” ใช้ทำมาหากิน จอดอยู่หน้าบ้าน
สาวใหญ่หัวใจแกร่ง นาม “ป้าอ้อย” ได้เล่าถึงชีวิตตนเองว่า ก่อนหน้านี้มีอาชีพเป็นกระเป๋ารถบัสสายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ส่วนสามีเป็นคนขับรถบัสคันดังกล่าว มีลูกด้วยกันสองคน ชื่อ ด.ช.กุลชาติ จุลเพ็ญ และ ด.ญ.ณภัทรวรัญ จุลเพ็ญ ต่อมาได้เลิกรากันกับสามี ซึ่งตอนนั้นลูกคนโตอายุ 7 ขวบ คนน้องอายุ 5 ขวบ ตนต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกทั้งสองคนและเช่าบ้านอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชุมพร
“แรกๆ ได้ยึดอาชีพเร่ขายขนมหวาน แต่ขายไม่ดี ทำให้เงินขาดมือ ไม่พอใช้จ่ายเลี้ยงดูลูกๆ จึงพลิกผันตัวเอง มาใช้รถจักรยานยนต์ใช้รถเข็นพ่วงท้าย ออกตระเวนเก็บขยะตามถังขยะ และที่ถูกทิ้งอยู่ตามที่สาธารณะริมถนนเกือบทุกวัน พร้อมกับรับซื้อจากชาวบ้านทั่วไปด้วย จนถึงปัจจุบันยึดอาชีพเก็บขยะขายมานานกว่า 30 ปีแล้ว มีรายได้พอเลี้ยงชีพ และส่งลูกๆ เรียนหนังสือได้อย่างไม่เดือดร้อน”
ป้าอ้อย ฉายภาพตัวเองในปัจจุบันว่า ได้มีสามีใหม่ คือ นายประมวล ศรีพิจิตร อายุ 55 ปี อยู่กินกันมานานหลายปี มีลูกด้วยกัน 1 คน ชื่อนายเหล็กกล้า ศรีพิจิตร อายุ 25 ปี สามีก็ขยันขันแข็ง มีหน้าที่ช่วยคัดแยกขยะ และถอดแยกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าที่ซื้อมา เพื่อนำไปส่งขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า ช่วงเย็นๆ สามีก็จะออกไปขับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่หน้าตลาดสดเทศบาลเมืองชุมพร และกลับเข้าบ้านตอนเที่ยงคืน ทำเป็นประจำทุกวัน
“ที่ผ่านมาได้ยึดอาชีพเก็บขยะขายมานาน เก็บออมด้วยความประหยัด เลี้ยงดูและส่งเสียลูกๆ ทั้งสามคนให้เรียนหนังสือตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนทุกวันนี้ลูกๆ เติบโตเรียนจบระดับปริญญาตรี ปริญญาเอก มีอาชีพหน้าที่การงานที่ดีมั่นคงกันทุกคนแล้ว ซึ่งลูกๆ ได้ขอร้องให้เลิกอาชีพนี้ เพราะเห็นว่าอายุมาก กลัวว่าการขับขี่รถจักรยานยนต์ตระเวนเก็บขยะจะเกิดอันตราย แต่ยังรักอาชีพนี้ ทุกวันนี้ก็ยังออกตระเวนเก็บขยะขาย เพราะถือว่าเป็นอาชีพสุจริตที่ทำให้เราประสบความสำเร็จมาได้”
แม่ผู้สู้ชีวิต ยังกล่าวถึงลูกๆ ด้วยความภาคภูมิใจว่า ลูกชายคนโตคือ นายกุลชาติ จุลเพ็ญ อายุ 37 ปี จบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จบปริญญาโท สาขาการขึ้นรูปโลหะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจบปริญญาเอก สาขาการขึ้นรูปโลหะที่ Nippon Institute Technology จากประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบัน ดร.กุลชาติ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ส่วนลูกสาวคนรองชื่อ น.ส.ณภัทรวรัญ จุลเพ็ญ อายุ 35 ปี จบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำงานอยู่บริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ และลูกคนสุดท้องกับสามีใหม่ชื่อ นายเหล็กกล้า ศรีพิจิตร อายุ 25 ปี จบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำงานอยู่บริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ
“แม่นั้นทำได้ทุกอย่างเพื่ออนาคตของลูก ขอให้ลูกๆ ทุกคนนึกถึงแม่และผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูมา จงตั้งใจเรียนหนังสือ อย่าเกเรทำตัวไม่ดี ส่วนลูกคนไหนที่เดินผิดหรือเดินหลงทาง เมื่อรู้ตัวเองก็อย่าเดินต่อไป ขอให้หยุดและถอยหลังกลับมาตั้งหลักใหม่ ชีวิตย่อมเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ” นางบุษรี กล่าวเตือนไปยังลูกๆ ทุกคน
พ่อแม่เลี้ยงควาย ส่งลูกจบปริญญา 3 คน
ในเดือนวันแม่แห่งชาติยังมีพ่อแม่สู้ชีวิตปรากฏโฉมให้สังคมได้รับรู้อีก 1 คู่ คือ เรื่องราวของ นางนกเล็ก โอสาร อายุ 52 ปี และ นายสนธ์ โอสาร อายุ 53 ปี คู่ชีวิตคู่ทรหดรายนี้ออกเรือนมากว่า 30 ปีแล้ว โดยมีสมบัติติดตัวจากบิดามารดาเพียง ควายคนละ 1 ตัวเท่านั้น
ทั้งคู่ตัดสินใจดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดอาชีพเลี้ยงควาย กระทั่งสามารถเก็บหอมรอมริบซื้อที่นา ต่อมาได้มีลูกชาย-หญิง รวม 3 คน ก็ยิ่งทำให้ต้องมีความขยัน อดทน อดออม เพื่อเก็บเงินส่งเสียให้ลูกๆ ได้เรียนจบสูงๆ กันให้ได้ทุกคน
นางนกเล็ก เล่าว่า นอกจากการทำนาและเลี้ยงควายเป็นอาชีพแล้ว ในครอบครัวยังได้เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ ไว้กินเอง ที่เหลือขาย และแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน-ญาติมิตร ซึ่งในแต่ละวันแทบไม่มีรายจ่าย
“ระหว่างที่ลูกยังเรียนชั้นประถม และมัธยม ลูกๆ ก็คอยช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เลี้ยงควาย และทำงานทุกอย่างเพื่อผ่อนแรงให้กับพ่อแม่ ที่สำคัญ ในฐานะพ่อแม่ก็คอยพร่ำสอนลูกเสมอให้เป็นคนดี ไม่เกเร คบเพื่อนดี ให้เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เอาเปรียบใคร และไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จนลูกๆ ทุกคนเรียนจบปริญญากันทั้ง 3 คน และมีการมีงานทำที่มั่นคงกันทุกคน”
นางนกเล็ก กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ลูกคนโตเป็นข้าราชการตำรวจและสามารถสอบเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ ปัจจุบันมียศเป็นร้อยตำรวจโท คือ ร.ต.ท.รังสรรค์ โอสาร ตำแหน่งพนักงานสอบสวนของ สภ.ลานสัก จ.อุทัยธานี คนที่ 2 คือ น.ส.รักฤทัย โอสาร เป็นพยาบาลประจำอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ และคนที่ 3 นางสาวสุพรรษา โอสาร จบปริญญาตรี คณะพืชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ กลับมาอยู่บ้านใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาทำอาชีพเกษตรกรรมกับครอบครัว
ขณะที่ลูกๆ ของ นางนกเล็ก เอง รู้สึกภูมิใจที่มีพ่อแม่ที่เป็นผู้ประเสริฐ ทุ่มเททำงานเพื่อส่งเสียจนประสบความสำเร็จในชีวิต และจะยึดแม่-พ่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตต่อไป
แม่ค้าหมี่สู้ชีวิต ส่งลูกเรียนจบ ป.ตรี-เรียนหมอ
ณ ริมถนนใกล้ตลาดสดเทศบาลตำบลอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี แม่ค้ารายหนึ่ง กำลังยืนผัดหมี่ผัดและแกงชนิดต่างๆ โดยมีลูกค้ามากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามาซื้อรับประทาน แต่เบื้องหลังของหญิงสูงวัยรายนี้ คือ ลูกชาย 2 คน จึงยอมสู้ทนอาบเหงื่อต่างน้ำ
นางสมบูรณ์ เรือนเงิน อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1916/4 หมู่ 6 ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง แม่ค้าผัดหมี่เล่าว่า ที่ยึดอาชีพนี้เพราะพอจะมีฝีมือในการปรุงอาหารทั้งแกง ยำชนิดต่างๆ รวมถึงหมี่ผัดโชกุน ทุกวันต้องตื่นตั้งแต่กลางดึกเพื่อมาเตรียมของและลงมือปรุงอาหารที่บ้าน เมื่อถึงเวลาประมาณตี 5 เศษ ก็นำอาหารใส่รถเข็นออกจากบ้านมาขายด้วยการตักใส่ถุงให้ลูกค้าซื้อกลับไปกินที่บ้านโดยจะขายหมดในช่วงเวลาประมาณ 7-8 โมงเช้า
“ที่ต้องทำงานหนักเพราะภาระที่ต้องดูแลบุตรชายซึ่งต้องส่งเสียให้เรียนหนังสือเพื่อให้มีความรู้เป็นสมบัติติดตัวไป ปัจจุบันลูกชายคนหนึ่งเรียนจบด้านวิศวะเครื่องยนต์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ส่วนอีกคนจบปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานกันแล้วทั้งคู่
ส่วนสาเหตุที่ยังต้องทำกับข้าวและผัดหมี่ขายต่อไปทั้งที่อายุเริ่มมากขึ้นทุกวัน เพราะไม่อยากจะอยู่เฉย อยากจะหารายได้เอาไว้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวแล้ว ล่าสุด ลูกชายของตนคนที่เรียนจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถสอบติดเข้าเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (แนวใหม่) จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม เพื่อชาวชนบทของมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งได้เข้าเรียนในปีการศึกษา 2558 นี้ด้วย จึงต้องสู้ต่อเพื่อหาเงินส่งให้ลูกเรียนให้จบให้ได้แม้จะเหนื่อยต่อแต่ก็สุขใจที่สุด” นางสมบูรณ์ กล่าว
ทั้ง 3 ครอบครัว คือตัวอย่างของพ่อแม่ที่สู้ชีวิตยอมทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อส่งให้ลูกไปถึงฝั่งฝัน แม้ว่าใครจะมองอย่างไรก็ไม่หวั่นไหว ขอเพียง “แก้วตาดวงใจ” ประสบความสำเร็จ และมีความสุขก็เพียงพอแล้ว