นักดาราศาสตร์ค้นพบครั้งใหม่หลุมดำสามารถให้กำเนิดสสาร-พลังงานได้
วันนี้(7ม.ค.59)การประชุมของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 227 ที่รัฐฟลอริดา มีการนำเสนอภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ซึ่งค้นพบปรากฏการณ์ที่หลุมดำขนาดใหญ่สามารถคายคืนสสาร ซึ่งในกรณีนี้คือก๊าซไฮโดรเจนปริมาณมากออกมาได้ ซึ่งช่วยยืนยันว่า หลุมดำสามารถก่อกำเนิดสสารและพลังงานได้ ไม่ใช่เป็นเพียงตัวดูดกลืนทำลายทุกสิ่งเท่านั้น โดยหลุมดำดังกล่าวอยู่ในกาแลคซี NGC 5194 ที่อยู่ห่างออกไป 26 ล้านปีแสง
สำหรับภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ แสดงให้เห็นแถบโค้งของก๊าซไฮโดรเจนสองแถบที่ด้านนอกหลุมดำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการคายก๊าซเย็นออกมาก่อนเมื่อราว 6 ล้านปีที่แล้ว ตามมาด้วยก๊าซร้อนเมื่อราว 3 ล้านปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการที่หลุมดำคายก๊าซและพลังงานความร้อนออกมา น่าจะเกิดจากการที่มันดูดกลืนก๊าซปริมาณมากเข้าไปก่อนหน้านี้ ซึ่งคล้ายกับการเรอของคนเราหลังการกินอาหารมื้อใหญ่ ซึ่งการคายก๊าซของหลุมดำน่าจะมีผลต่อการก่อตัวขึ้นของดวงดาว และการควบคุมไม่ให้กาแลคซีขยายตัวใหญ่เกินไปด้วย