นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่นอกระบบสุริยะของเรา เป็นดาวเคราะห์เพิ่งเกิด มีลักษณะคล้ายดาวพฤหัสบดี เล็งใช้เป็นกุญแจไขปริศนาเกี่ยวกับกำเนิดของดาวเคราะห์ก๊าซขนาดยักษ์
ในการค้นพบดาวเคราะห์ 51 Eridani b ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์อายุน้อยมากดวงหนึ่ง ห่างจากโลกประมาณ 96 ปีแสง ทีมวิจัยใช้อุปกรณ์ที่เพิ่งเปิดใช้งาน Gemini Planet Imager ซึ่งติดตั้งบนกล้องดูดาวตัวหนึ่งในประเทศชิลี
ดาวเคราะห์ 51 เอริดานี บี มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสฯราวหนึ่งเท่า โคจรรอบดาวฤกษ์ในระยะห่างที่มากกว่าระยะทางระหว่างดาวเสาร์กับดวงอาทิตย์เล็กน้อย นับเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์นอกระบบขนาดเล็กที่สุดที่ถ่ายภาพได้โดยตรง
51 เอริดานี บี ยังคงปล่อยความร้อนที่เกิดจากการก่อตัวเมื่อไม่ถึง 20 ล้านปีก่อน หรือพูดอีกอย่างก็คือ ดาวเคราะห์ทารกดวงนี้ถือกำเนิดขึ้นภายหลังไดโนเสาร์บนโลกของเราสูญพันธุ์ประมาณ 40 ล้านปี นักวิจัยถ่ายภาพของมันในย่านรังสีอินฟราเรด
@ ภาพถ่ายรังสีความร้อนของดาวเคราะห์ 51 เอริดานี บี (Image credit: J. Rameau /UdeM and C. Marois/NRC Herzberg)
บรูซ แม็กอินทอช และทีมวิจัย รายงานในวารสาร Science ว่า 51 เอริ บี ช่วยให้เราได้ศึกษาดาวเคราะห์ที่สภาพของมันยังคงได้รับอิทธิพลจากการก่อตัว ซึ่งพบว่า ชั้นบรรยากาศประกอบด้วยก๊าซมีเธนเหมือนกับดาวพฤหัสฯ
การค้นพบครั้งนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เบาะแสว่า ดาวเคราะห์ก๊าซขนาดยักษ์ทั้งหลาย ก่อตัวและมีวิวัฒนาการอย่างไร ดาว 51 เอริ บี มีสภาพคล้ายดาวพฤหัสฯเมื่อหลายพันล้านปีก่อน
จนถึงขณะนี้ นักดาราศาสตร์เพิ่งมองเห็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นได้แค่ไม่กี่ดวง เกือบทั้งหมดมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสฯราว 5-13 เท่า
Source: Reuters
Image credit: Danielle Futselaar & Franck Marchis, SETI Institute