บีบีซีรายงานว่า งานวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ถูกนำเสนอในงานประชุมเภสัชวิทยาที่เกี่ยวกับผลของยาต่อโรคจิตและประสาทแห่งยุโรปที่เมืองอัมสเตอร์ดัม เผยการกินน้ำหลังจากดื่มแอลกอฮอล์จนเมาไม่สามารถป้องกันอาการเมาค้างที่จะเกิดขึ้นในวันถัดมา ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวศึกษานักเรียน 826 คน โดยถามถึงวิธีที่พวกเขาใช้ป้องกันอาการเมาค้าง ซึ่งพบว่าน้ำหรืออาหารไม่มีผลเชิงบวกแต่อย่างใด
ขณะที่นักเรียนชาวดัตช์ที่คิดเป็น 54 เปอร์เซนต์จากนักเรียนทั้งหมด ระบุว่าพวกเขามักกินอาหารหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารเช้าหนักๆ หวังเพื่อลดอาการเมาค้าง ขณะเดียวกัน นักเรียนมากกว่า 2 ใน 3 นั้นดื่มน้ำควบคู่กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีคนกว่าครึ่งที่ดื่มน้ำก่อนเข้านอนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน แต่งานวิจัยระบุว่าแม้กลุ่มที่ดื่มน้ำจะรู้สึกดีเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ดื่มน้ำ แต่ไม่มีข้อแตกต่างในการเมาค้างเลย
ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้เผยทางแก้เพียงทางเดียวที่จะป้องกันอาการเมาค้าง โดยจากการสอบถามนักเรียนชาวแคนาดา 789 คน ถึงประวัติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาการเมาค้างในช่วง 1 เดือนนั้น คนที่ไม่มีอาการเมาค้าง คือกลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยเกินกว่าที่จะทำให้เกิดอาการเมาค้างตั้งแต่แรก