สำนักข่าวสเตรทไทม์ส- นักวิจัยนานาชาติเผยปรากฏการณ์เอลนีโญอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดสายพันธุ์เดงกีในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทีมนักวิจัยกล่าวว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้และคาดว่าจะสิ้นสุดในช่วงปลายปีหน้าอาจจะมีความรุนแรงมากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 20 ปี
นายวิลเลียม วาน แพนฮุยส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยพิทสเบิร์กหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิตกล่าวว่า “การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์เดงกีที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดจะทำเกิดปัญหาด้านระบบการดูแลสุขภาพซึ่งผลการวิเคราะห์ของเราชี้ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้สภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมสำหรับการระบาดของโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์เดงกีครั้งใหญ่ที่จะมีการระบาดไปทั่วทั้งภูมิภาค”
ผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร′ProceedingsOf The National Academy Of Sciences′ ระบุว่า ในช่วงระหว่างที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งใหญ่เมื่อปี 1997 และ 1998 มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์เดงกีอย่างรุนแรง เนื่องจากสภาพอากาศมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุงและทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
โรคไข้เลือดออกสายพันธุ์เดงกีมียุงเป็นพาหะนำโรคในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนมีผู้ป่วยเกือบ400 ล้านคนในแต่ละปี โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มีผื่นขึ้น และในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากยังไม่วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคและยังไม่มีตัวยาชนิดใดที่สามารถรักษาอาการได้ดีไปกว่ายา ′acetaminophen′ หรือ ยาพาราเซตามอล
ขณะที่องค์การอนามัยโลกเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์เดงกีทั่วทั้งโลกนั้นเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลกมีความเสี่ยงที่จะติดโรคนี้
มีรายงานการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาทิประเทศเวียดนามมีผู้ป่วยราว 32,900 คนในช่วง 9 เดือนแรกนับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียวมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย
ด้านประเทศเมียนมาเองก็มีรายงานการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของเมียนมาระบุว่าในช่วง9 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 35,993 คน เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้รัฐมนตรีสาธารณสุขของเมียนมาได้กล่าวเพิ่มว่า จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในปีนี้นับได้ว่ามีจำนวนสูงที่สุดนับตั้งแต่ที่ภาครัฐเริ่มการจดบันทึกในปี 1965