วารสาร Nature Communications ได้ตีพิมพ์ผลงานความสำเร็จของนักวิจัยโรงพยาบาลเด็กแห่งเมืองฟิลาเดลเฟียในสหรัฐฯ ที่สามารถ ประดิษฐ์ครรภ์มารดาเทียม และทดลองใช้ช่วยชีวิตลูกแกะที่คลอดก่อนกำหนดเอาไว้ได้ ทั้งนี้ลูกแกะที่นำมาทดลองมีอายุเทียบเท่าทารกมนุษย์ที่อยู่ในครรภ์ 23 สัปดาห์ โดยเลี้ยงไว้ในครรภ์มารดาเทียมที่ประดิษฐ์ขึ้นจากพลาสติก ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงชีวภาพ ห่อหุ้มตัวลูกแกะเอาไว้
รวมทั้งมีน้ำคร่ำเทียมและระบบช่วยหมุนเวียนเลือดคอยหล่อเลี้ยงอยู่เป็นเวลา 28 วัน จนลูกแกะสามารถพัฒนาอวัยวะภายในโดยเฉพาะปอดและหัวใจให้เจริญเติบโต สามารถลืมตาได้ มีขนงอกตามปกติ ภายหลังออกจากครรภ์มารดาเทียมแล้วก็สามารถหายใจด้วยปอดเองได้ มีชีวิตอยู่รอดและมีสุขภาพแข็งแรง
แพทย์หญิงเอมิลี พาร์ทริดจ์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยครรภ์มารดาเทียมบอกว่า จะนำเครื่องมือนี้ไปทดลองใช้ในมนุษย์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลังทดสอบความปลอดภัยขั้นต้นแล้ว โดยมีเป้าหมายในการช่วยชีวิตทารกที่คลอดก่อนกำหนดขณะอายุครรภ์ได้เพียง 23-24 สัปดาห์ ตามปกติแล้วโอกาสรอดชีวิตมีเพียง 15% ส่วนทารกที่คลอดขณะอายุครรภ์ต่ำกว่า 23 สัปดาห์นั้นโอกาสรอดชีวิตแทบจะเป็นศูนย์