วันที่ 13 พฤศจิกายน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เรื่องข้อควรปฏิบัติตัว ในวันลอยกระทง เพื่อดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ว่า ความเป็นจริงแล้ว การที่ต่างคนต่างเอากระทง ซึ่งทำจากวัสดุต่างๆ ไว้ลอยในน้ำนั้นเป็นการเพิ่มขยะแน่นอน แต่เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นประเพณีที่ทำกันมานาน ไม่ทำก็ไม่ได้ ดังนั้น จะต้องวางแผนให้รัดกุมเพื่อให้เกิดขยะให้น้อยที่สุด และสามารถจัดการขยะนั้นให้เร็วที่สุดเช่นกัน
“รูปแบบของกระทงมีหลายชนิด ถ้าพูดถึงความสะดวกในการเก็บ กระทงโฟมคงจะเก็บง่ายที่สุด กระทงที่เป็นขนมปัง ก็ใช่ว่าจะดี เพราะแป้งที่อยู่ในน้ำนานๆทำให้น้ำเน่าได้เร็วมาก ดังนั้น การเอากระทงขนมปังไปลอยที่ไหน ต้องให้มั่นใจว่า ในน้ำนั้นมีปลาจำนวนมากพอที่จะกินขนมปังให้หมด ด้วย ส่วนกระทงที่ส่งผลกระทบกับแหล่งน้ำน้อยที่สุดเวลานี้คือ กระทงน้ำแข็ง ผมว่าก็เป็นแนวคิดที่ดี แต่คนที่เอาไปลอยคงต้องทุ่มเทนิดหน่อยคือ ต้องหาลังโฟมใส่กระทงไว้ก่อนที่จะเอาไปลอย ป้องกันน้ำแข็งละลาย ก่อนจะเอาไปลอย ซึ่งกระทงน้ำแข็งเมื่อละลายหมด ก็ไม่มีผลใดๆ กับแหล่งน้ำ ยกเว้นธูปเทียนที่ใส่ลงไป ซึ่งก็ถือว่าน้อยกว่ากระทงชนิดอื่นๆ ส่วนคนยุคใหม่หลายๆ คน เสนอแนวคิดมาว่า ลอยกระทงในโซเชียล เหมาะกับยุคนี้ที่สุด แค่เข้าไปในเว็บ หรือ ใช้ตัวแอปพลิเคชันต่างๆ คลิกแค่คลิกเดียวก็ถือว่าลอยกระทงแล้ว ก็ดีเหมือนกัน แล้วแต่ใครจะเลือกใช้วิธีไหน ให้คิดถึงความเหมาะสมที่สุด” รศ.ดร.เจษฎา กล่าว
ด้าน ผศ.จิรพล สินธุนาวา นักวิชาการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาขยะลอยน้ำ และมลพิษปนเปื้อนแหล่งน้ำ ตามมาสร้างปัญหาทุกครั้งหลังจากวันลอยกระทง ในสมัยโบราณนั้นจะลอยกระทงที่ไหน กระทงทำด้วยอะไรก็ได้ ปัญหามีน้อย เพราะคนน้อย แต่ทุกวันนี้คนมากจะทำอะไรก็ต้องคิดให้มากขึ้นกว่าเดิม การทำกระทงใหญ่ กระทงสวย แต่เมื่อเอาไปลอยแล้วไม่ไปเก็บกลับมาก็สร้างภาระให้แหล่งน้ำ ดังนั้น การลอยกระทงต้องมีสติไม่สร้างภาระให้แหล่งน้ำ
“ลอยกระทงในน้ำระบบปิด มีการควบคุมการไหลของน้ำจะสะดวกต่อการเก็บมากกว่าลอยในแหล่งน้ำเปิด ที่ลอยอยู่ตรงนี้แต่ไปเป็นภาระแก่พื้นที่อื่น ควรลอยกระทงเป็นหมู่คณะ 1 คณะ หรือ 1 ครอบครัว หรือ 1 คู่รัก ต่อ 1 กระทง และเป็นกระทงเล็กๆ มากกว่า ต่างคนต่างลอย จะช่วยลดปริมาณมวลขยะได้จำนวนมาก ส่วนการลอยกระทงขนมปังนั้น ไม่ค่อยสนับสนุนนัก เพราะเมื่อขนมปังจำนวนมากไปรวมกันในน้ำจะย่อยสลายช้า เป็นสารอินทรีย์ ทำให้น้ำขาดออกซิเจน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาขนมปังไปทำกระทงไม่ได้ ทำได้แต่ขอให้เป็นกระทงเล็กๆ ธูปเล็กๆ เทียนเล็กๆ กระดาษสีตกแต่งไม่ต้องมี ดอกไม้ก็ควรใช้ดอกไม้สด ดอกเดียวก็พอ และที่สำคัญควรลอยในที่ที่มีปลามากพอที่จะกินกระทงได้หมด” ผศ.จิรพล กล่าว
ขณะที่นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากสถิติการจัดเก็บกระทงในเขตกรุงเทพฯ ในปี 2551-2557 พบว่า สัดส่วนกระทงที่ทำจากโฟมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเปรียบเทียบกับปี 2554 ที่มีกระทงทำจากโฟมจำนวน 57,837 ใบ คิดเป็นร้อยละ 18 โดยในปี 2555 มีจำนวน 131,338 ใบ คิดเป็นร้อยละ 14 ปี 2556 มีจำนวน 107,848 ใบ คิดเป็นร้อยละ 12 และปี 2557 มีจำนวน 96,069 ใบ คิดเป็นร้อยละ 10 และในปีล่าสุด 2558 กทม.เก็บกระทงได้จำนวน 825,614 ใบ เป็นกระทงทำจากวัสดุธรรมชาติ 754,587 ใบ คิดเป็นร้อยละ 91.4 กระทงโฟม 71,027 คิดเป็นร้อยละ 8.6