ผู้ช่วยศาสตราจารย์จัสติน เบอร์ตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพของภูเขาน้ำแข็ง จากมหาวิทยาลัยเอโมรี ของสหรัฐฯ เผยว่า การพลิกตัวของภูเขาน้ำแข็งเป็นสภาพปกติที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง จากการละลายของน้ำแข็งที่ค่อยๆ บางลง และแตกเป็นชิ้นเล็ก แต่เนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้รอบนอกของภูเขาน้ำแข็งละลายมากขึ้น จนภูเขาน้ำแข็งมีลักษณะเรียวสูง ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะพลิกตัว 90 องศา
การพลิกตัวในลักษณะนี้ ก่อให้เกิดพลังกระจายออกไปรอบด้านสูงมาก พลังที่กระจายออกไปนี้อาจเทียบเท่าได้กับระเบิดทีเอ็นทีหนัก 40 กิโลตัน หรือมากกว่าแรงระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกที่มีการทดลองระเบิดในโครงการแมนฮัตตันของสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า
พลังงานดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ และทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่ระดับ 5 แมกนิจูด ซึ่งสามารถรู้สึกได้ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร จากการรวบรวมข้อมูลศึกษาของเบอร์ตัน พบว่า ปรากฏการณ์ภูเขาน้ำแข็งพลิกนั้น ในเวลานี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 30 ครั้งต่อปี ทั้ง ๆ ที่เมื่อปี 1993 เกิดขึ้นเพียงปีละ 7 ครั้งเท่านั้น