ที่มา: Khaosod Online

วันที่ 27 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อ “แพทยสภาภิวัฒน์” ได้รายงานสถานการณ์ภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลว่า ได้รับการติดต่อจาก ว่าที่ นพ.ธนสาร พฤฒิสถาพร นักศึกษาแพทย์ของกรมการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เข้าเป็นอาสาสมัครกับทีมแพทย์นานาชาติช่วยดูแลสุขภาพคนแถบหิมาลัยในช่วงปิดเทอม ตั้งแต่ก่อนมีแผ่นดินไหว 

ซึ่งรายงานสถานการณ์ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ในเมืองมีความวุ่นวาย เนื่องจากรัฐบาลมือใหม่ ทำให้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ไม่เป็นมืออาชีพ ขณะที่เรื่องอาหารการกินขาดแคลนมาก เพราะเมืองกาฐมาณฑุผู้คนอาศัยหนาแน่น บ้านไม่แข็งแรง ต้องมานอนกลางเมือง เมื่อมีรถอาหารมาแจกก็เกิดการแย่งกัน จนมีการเหยียบ ทำให้บาดเจ็บสาหัสหลายราย ปัญหา คือ ระบบโลจิสติกหรือระบบขนส่ง โดยหลายหมู่บ้านถนนตัดขาด สะพานพัง ทำให้อาหารเข้าไปไม่ถึง อาหารที่รณรงค์ขอรับตอนนี้ คือ ขนมปังและอาหารกระป๋อง

16

สำหรับเรื่องน้ำ รายงานว่า น้ำประปาสกปรก สีค่อนข้างน้ำตาล ไม่สามารถดื่มได้ ต้องรอให้ตกตะกอน น้ำดื่มขาดตลาดขายขวดละ 100 บาท ที่นอนและชุดชั้นในขาดแคลน ขณะที่เรื่องสุขภาพโรงพยาบาลประกาศระดมแพทย์ พยาบาล ทั่วโลกมาช่วย และยังขาดระบบการจัดการข้อมูลผู้ป่วยและระบบคัดแยกผู้ป่วย ตอนนี้พยายามสร้างระบบ 4 ระบบ คือ 1.ผู้ป่วยนอกส่วนกลุ่มทำแผล ดามกระดูก ไม่ด่วนในการผ่าตัด  2.ผู้ป่วยนอกกลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาประจำ กลุ่มโรคหัวใจ โรคเบาหวาน 3.กลุ่มผู้ป่วยวิกฤตและผ่าตัดฉุกเฉินขาดแคลนอุปกรณ์และบุคลากรมาก และ 4.กลุ่มระบบสารสนเทศและการสื่อสาร ทางเอ็นจีโอต่างช่วยกันสร้างระบบติดตามผู้ป่วย ตามหาญาติ ซึ่งหน่วยนี้ได้จัดให้นักท่องเที่ยวมาช่วยเป็นกลุ่มล่ามแปลภาษา นอกจากนี้ ยังรายงานถึงสถานการณ์เมืองลุคคลา ทางขึ้นเขาเอเวอร์เรสด้วย

ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว (วอร์รูม) ที่ประเทศเนปาล โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมในการส่งทีมไปช่วยเหลือด้านการแพทย์ที่ประเทศเนปาล แต่เบื้องต้น ในวันพรุ่งนี้จะมีทีมสำรวจนำโดย นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปล่วงหน้าเพื่อประสานกับสถานทูตไทยในเนปาล และสาธารณสุขประเทศเนปาล ว่า มีความต้องการความช่วยเหลือในลักษณะใดบ้าง ซึ่งในวันที่ 29 เม.ย.น่าจะมีข้อมูลเพียงพอว่าจะส่งทีมช่วยเหลือไปสมทบเป็นทีมใหญ่หรือทีมเล็ก

17

“การส่งทีมเข้าช่วยเหลือทางการแพทย์ในครั้งนี้ เบื้องต้น ถ้าส่งทีมเล็กไปจะวางแผนปฏิบัติการว่าตั้งโรงพยาบาลสนามที่บริเวณใกล้สถานทูตไทยก่อน แต่หากส่งทีมใหญ่ต้องประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเนเปาล เพื่อช่วยเหลือในโรงพยาบาลต่างๆหรือออกช่วยเหลือในพื้นที่ แต่เบื้องต้น ทีมที่จะส่งไปจะต้องไม่เป็นภาระของเนปาล และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยจะมีการเตรียมอุปกรณ์ภาคสนาม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบสื่อสาร เครื่องปั่นไฟรวมทั้งอาหาร น้ำดื่มไปเอง”นพ.สมศักดิ์  

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแพทย์ที่แสดงเจตจำนงจะร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก และมีคณะแพทย์ศาสตร์ทั้งศิริราช จุฬา รามาธิบดี และ มศว. ว่ามีความพร้อมที่จะเดินทางไป แต่อย่างไรก็ตาม การจัดทีมแพทย์จะต้องขึ้นอยู่ข้อมูลภาคสนามว่ามีความต้องการในลักษณะใด และอยากให้ผู้ที่จะเดินทางไป หรือต้องการเดินทางไป ประสานกับวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุขก่อน ซึ่งจากที่ประเมินขั้นต่ำ การเดินทางเข้าช่วยในครั้งนี้อาจต้องใช้เวลา 1 เดือน จึงต้องมีทีมผลัดเปลี่ยนทีมละ 2 สัปดาห์ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าแพทยสภา ได้เปิดลงทะเบียนแพทย์อาสาสมัครแล้ว ซึ่งจะมีการประสานกันต่อไป

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการณ์ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทีมที่จะเดินทางไปในพื้นที่ได้ ต้องเป็นทีมที่มีประสบการณ์ ซึ่งมีแพทย์ฉุกเฉินที่มีความพร้อมอยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับแพทย์ที่เดินทางไป ต้องรู้วิธีช่วยเหลือตนเอง เพราะขณะนี้ในพื้นที่มีความยากลำบากการเดินทางไป จึงต้องจำกัดจำนวนและเลือกผู้ที่มีประสบการณ์เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการดูแล  นอกจากทีมแพทย์ยังมีความต้องการล่ามภาษาฮินดีประมาณ 3-5 คน ซึ่งจะขึ้นทะเบียนไว้ก่อน ทั้งนี้ หากผู้มีข้อมูลในพื้นที่หรือต้องการเข้าร่วมทีมสามารถประสานที่วอร์รูม 02 590 1994

เรื่องน่าสนใจ