ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 14 ล้านคน ซึ่งจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมสำหรับคนในครอบครัว หรือกระทั่งสำหรับตัวเอง เพื่อรับสถานการณ์ที่จะมีผู้สูงอายุในบ้าน เป็นสิ่งที่ควรทำโดยเฉพาะการสร้างบ้าน หรือการซ่อมแซมต่อเติม

14468705531446871136l

คุณฐิติพร จันทนพรชัย นักออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ บริษัทเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ให้คำแนะนำสำหรับเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุมาดังนี้

1.บ้านควรเป็นชั้นเดียว ถ้าเป็นบ้านสองชั้น ควรเตรียมห้องด้านล่างไว้สำหรับผู้สูงอายุ

2.ในตัวบ้านและรอบบ้าน ควรมีระดับชั้น น้อยที่สุด เพราะระดับชั้นนำมาซึ่งบันได และบันได นำมาซึ่งอุบัติเหตุ

3.ทางเข้าบ้าน ไม่ควรมีธรณีประตู และควรมีทางลาดสำหรับรถเข็น ซึ่งค่าทางลาดที่แนะนำคือ ความสูง ต่อ ทางลาด = 1 ต่อ 12 เช่น ความสูงของพื้น 1 เมตร ทางลาดยาว 12 เมตร หรือถ้าพื้นสูง 0.5 เมตร ทางลาดยาว 6 เมตร

ง่ายๆ คือแปลงหน่วยให้เท่ากัน แล้ว คูณ 12 สำหรับความยาวทางลาด เช่น ถ้าวัดความสูงจากพื้นได้ 30 เซนติเมตร (เท่ากับ 0.30 เมตร คูณ 12 เท่ากับ 3.6 เมตร) นั่นคือทางลาดยาว 3.6 เมตร

ค่าความลาดชันขนาดนี้ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เป็นค่าที่จะใช้รถเข็นได้สะดวก เดิน หรือใช้ อุปกรณ์ช่วยเดินก็สะดวก

4. มีสถิติว่า 70 เปอร์เซนต์ของ ห้องที่เกิดอุบัติเหตุในบ้าน คือห้องน้ำ เนื่องจาก บ้านทั่วไปนิยมสร้างพื้นต่างระดับ ไว้ 10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำไหลออก และ 10 เซนติเมตรนี้เองที่ทำให้ผู้สูงอายุสะดุดหกล้มบ่อยๆ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ สภาพร่างกายเปลี่ยน ปลายเท้าตก เดินได้ไม่ปกติเหมือนวัยหนุ่มสาว

ดังนั้นคำแนะนำคือ ไม่ควรทำพื้นต่างระดับ แต่ใช้วิธีปูพื้นกระเบื้องเอียงลาดเข้าด้านในเพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับมาและควรมีพื้นที่ อย่างน้อย 1.5 เมตร X 1.5 เมตร สำหรับไว้กลับรถเข็น

14468705531446871110l

5. โถชักโครก สำหรับผู้สูงอายุ ควรสูงจากพื้น 45 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงพอดี ที่เข่าจะทำองศา 90 องศา เหมาะสำหรับการยืนและตั้งตัวตรงได้ดีที่สุด ส่วนบ้านใครที่ยังใช้ ส้วมแบบนั่งยอง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เปลี่ยนเป็นชักโครก เนื่องจากส้วมนั่งยอง จะลำบากสำหรับผู้สูงอายุเวลาเปลี่ยนอิริยาบท จากนั่ง มาเป็นยืน ทำให้หลายคนล้มลงมา

หากผู้สูงอายุท่านใดไม่คุ้นชิน (บางท่านถึงกับถ่ายไม่ออก) แนะนำให้ลูกหลาน ช่วยกันปรับ โดยค่อยๆ เริ่มทีละน้อย หรือหากบ้านใดมีงบประมาณไม่มาก ก็ใช้ ชักโครกแบบตักราดได้ โดยชักโครกแบบนี้ เริ่มต้นที่ 1,000 บาท ทั้งนี้ การเลือกสุขภัณฑ์ ควรเลือกที่ได้มาตรฐาน แข็งแรง เพื่อความปลอดภัย

ส่วนบางท่านที่รังเกียจชักโครกมากๆ และใช้วิธีไปนั่งยองบนชักโครกอีก ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า แบบนั้น ยิ่งอันตราย เนื่องจาก จุดลงน้ำหนักตัวไปอยู่บนชักโครก อาจะทำให้ชักโครกแตกหัก และเกิดบาดเจ็บสาหัสได้

6. ผู้สูงอายุควรนั่งอาบน้ำ และติดตั้งราวจับ ในห้องน้ำ ทั้งราวจับแนวตั้งและแนวนอน

7. เนื่องจากผู้สูงอายุมีผิวหนังที่รับความรู้สึกได้ช้าลง ดังนั้น ควรตั้งอุณภูมิน้ำอุ่นไว้ที่ ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส หากร้อนกว่านี้ น้ำอาจจะลวกผิวหนัง โดยผู้สูงอายุไม่รู้สึกตัว หรือรู้สึกตัวเมื่อมีอาการบาดเจ็บแล้ว

8.ก๊อกน้ำ ควรเป็นก้านปัดซ้าย-ขวา หรือ ขึ้น-ลง ไม่ควรเป็นแบบหมุน เนื่องจากแบบก้านปัด จะสะดวกสำหรับผู้สูงอายุมากกว่า

14468705531446871100l

9. กระจกในห้องน้ำควรใช้แบบปรับมุม ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมองเห็นช่วงล่าง ทำให้เค้าสำรวจได้ แบบไม่ต้องยืน

10.พื้นกระเบื้องต้องมีความหยาบระดับหนึ่ง เนื่องจากหากเป็นพื้นลื่นมันวาวจะเกิดฟิล์มน้ำที่แผ่นกระเบื้องทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หากต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีเทปกันลื่นปิดที่กระเบื้อง ช่วยได้ระดับหนึ่ง

11. ในห้องนอน ความสูงเตียงรวมฟูก ควรอยู่ที่ 42-45 เซนติเมตร เพราะการเปลี่ยนท่า จากนอน เป็นนั่ง แล้วยืน มุมองศาของเข่า 90 องศา จะทำให้ยืนง่ายที่สุด และทำให้มีการทรงตัวดีที่สุด

14468784091446878535l

12.ควรมีไฟทางเดินนำจากเตียงนอนไปสู่ห้องน้ำและควรเป็นกลุ่มไฟสีเหลืองเนื่องจากหากเป็นไฟสว่างจ้าจะทำให้ผู้สูงอายุกลับมานอนหลับได้ยาก

13.การวางของไม่ควรเกิน 170 เซนติเมตร หากสูงกว่านี้ อาจจะต้องปีนป่าย และเกิดอุบัติเหตุ

14.เฟอร์นิเจอร์ ไม่ควรทึบตันด้านล่าง แต่ควรทำให้โปร่ง เพื่อให้รถเข็นเข้าถึง และการไว้ของใช้ ควรไว้ในลิ้นชัก แทนการใส่ตู้ทึบด้านล่าง

15.ต้นไม้ควรปลูกในกระถางสูง ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องก้มลงไป

16.ควรใช้สวนแนวตั้ง จะเหมาะกับผู้สูงอายุมากที่สุด

เรื่องน่าสนใจ