ที่มา: prachachat

เรียบเรียงโดย โดดเด่นดอทคอม

ช่วงนี้โดดนเด่นมักจะเห็นข่าวเกี่ยวกับการสำรวจนอกโลกกันบ่อยขึ้นนะครับ นั่นอาจเพราะเทคโนโลยีอวกาศของโลกเราพัฒนาไอได้ไกลขึ้น ทำให้สิ่งที่มนุษย์โลกเราสงสัยกันว่าในนอกโลกหรือในดาวอื่นๆ จะมีสิ่งมีชีวิตในแบบเดียวกับดาวโลกหรือเปล่า ซึ่งล่าสุดนาซา(NASA)ก็ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ 

01

ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า ทีมนักวิจัยขององค์การบริการการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานการวิจัยจากข้อมูลเกี่ยวกับดาวอังคารล่าสุด แสดงความเชื่อมั่นว่า ดาวสีแดงที่แห้งแล้งและเย็นจัดในเวลานี้เคยมีน้ำปกคลุมอยู่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวทั้งหมด จัดทำแผนที่ย้อนยุค 4,500 ล้านปีก่อนแสดงให้เห็นผืนน้ำกว้างใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งเคยมีสิ่งมีชีวิตวิวัฒน์ขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงนี้

งานวิจัยชิ้นนี้เขียนโดย เจอโรนิโม วิลลานูวา นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ จากศูนย์ควบคุมการบินอวกาศกอดดาร์ด ที่เมืองกรีนเบลท์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกาของนาซา ระบุว่า ถึงแม้พื้นผิวของดาวอังคารในเวลานี้เย็นและแห้งแล้ง แต่มีหลักฐานมากมายเกินพอที่แสดงให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งเมื่อหลายพันล้านปีที่ผ่านมา พื้นผิวของดาวอังคารมีทะเลสาบ แม่น้ำ และทะเล ครอบคลุมถึงราว 1 ใน 5 ของพื้นผิวทั้งหมด และด้วยเหตุผลที่ว่า ที่ใดมีน้ำที่นั่นควรจะมีสิ่งมีชีวิต ทำให้เชื่อว่าครั้งหนึ่งดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีวิวัฒนาการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เปียกชื้น และไม่แน่นักว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอาจยังคงมีอยู่ในเวลานี้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวของดาวอังคาร

ปริศนาสำคัญที่่หลงเหลืออยู่สำหรับวิลลานูวา ก็คือ ดาวอังคารสูญเสียน้ำที่มีไปอย่างไร และยังคงมีน้ำหลงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหนในแหล่งน้ำสำรองใต้พื้นผิวของดาวอังคาร

00

ศาสตราจารย์วิลลานูวา ชี้ว่าวิธีการหนึ่งซึ่งจะช่วยไขปริศนาดังกล่าวได้ ต้องใช้การวิเคราะห์โมเลกุลของน้ำที่อยู่ในบรรยากาศของดาวอังคาร

โดยปกติแล้ว โมเลกุลของน้ำประกอบด้วยไฮโดรเจน 2 อะตอมและออกซิเจนอีก 1 อะตอม อย่างไรก็ตาม อะตอมของไฮโดรเจน ตัวหนึ่งตัวใด หรือในบางกรณีทั้ง 2 ตัว สามารถถูกแทนที่ด้วย ดิวเทอเรียม ได้ส่งผลให้กลายเป็น “ดิวเทอเรเต็ด วอเตอร์” ทั้งนี้เนื่องจากดิวเทอเรียมเป็นไอโซโทบ (อะตอมของธาตุชนิดเดียวกัน แตกต่างกันที่จำนวนนิวตรอน) ชนิดหนึ่งของไฮโดรเจน นิวเคลียสประกอบด้วยโปรตรอน และนิวตรอน อย่างละ 1 อะตอม มีมวลเป็นสองเท่าของไฮโดรเจน

เพราะมีมวลเป็นสองเท่า ทำให้น้ำดิวเทอเรียมมีน้ำหนักมากกว่าน้ำปกติ และมีพฤติกรรมตามธรรมชาติแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น น้ำธรรมดาสามารถระเหยกลายเป็นไอได้ง่ายกว่าเช่นในกรณีของดาวอังคาร ทั้งนี้การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ทำให้โมเลกุลของน้ำที่ระเหยขึ้นไปอยู่ในบรรยากาศของดาวอังคารแตกตัวกลายเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน โดยที่ไฮโดรเจนสามารถหลุดออกจากแรงโน้มถ่วงสู่อวกาศได้

ทีมวิจัยของนาซาพบว่า สัดส่วนระหว่างน้ำดิวเทอเรียมและน้ำทั่วไปในบางพื้นที่ของดาวอังคารมีสูงกว่าที่คิดกันไว้ คือสูงกว่าสัดส่วนทั่วไปในมหาสมุทรของโลกถึง 7 เท่าตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายิ่งนานไปดาวอังคารยิ่งสูญเสียน้ำ (ปกติ) ไปเป็นจำนวนมาก เมื่อคำนวณย้อนกลับไป ทีมวิจัยพบว่า เมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน ดาวอังคารมีน้ำ (ปกติ) ปกคลุมอยู่มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวทั้งหมด และอาจยังคงมีแหล่งน้ำใต้พื้นผิวในปริมาณ “ที่มีนัยสำคัญ” หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน

ทีมวิจัยได้จัดทำแผนที่แหล่งน้ำบนดาวอังคารเบื้องต้นขึ้น และจะปรับปรุงไปเรื่อยๆ ตามข้อมูลที่ได้รับ เพื่อช่วยเป็นแนวทางในการค้นหาแหล่งน้ำใต้ดินต่อไป

เรื่องน่าสนใจ