นาซาได้เปิดเผยภาพล่าสุดที่ถูกส่งจากยาน นิว โฮไรซอน ซึ่งไปสำรวจดาวพลูโต โดยเป็นภาพทุ่งน้ำแข็งซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ยากจะอธิบาย อยู่ในภูมิภาครูปหัวใจของดาวเคราะห์แคระดวงนี้…
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ถ่ายทอดสด การแถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับภารกิจรวบรวมข้อมูลของดาวเคราะห์แคระ พลูโต ของยานอวกาศ นิว โฮไรซอน ผ่านทางช่อง นาซา ทีวี เมื่อช่วงหลังเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยยานนิว โฮไรซอนได้ส่งภาพใหม่ของดาวดวงนี้กลับมายังโลกอีกหลายภาพ รวมถึงภาพทุ่งน้ำแข็งที่มีลักษณะประหลาดด้วย
ทุ่งน้ำแข็งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาครูปหัวใจซึ่งมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘ทอมบอ เรจิโอ’ โดยนาซาตั้งชื่อทุ่งน้ำแข็งแห่งนี้ว่า ‘สปุตนิก’ ตามชื่อดาวเทียมของรัสเซีย โดยมันเป็นพื้นที่ราบและแตกออกเป็นรูปหลายเหลี่ยม ที่ชายขอบของทุ่งน้ำแข็งซึ่งกว้างประมาณ 20-30 กิโลเมตรนี้ เต็มไปด้วยสสารสีดำและเนินเล็กๆ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พื้นผิวที่แตกออกของทุ่งสปุตนิกอาจสามารถเป็นหลักฐานของการโป่งพองของพื้นผิวจากความร้อนอ่อนๆ ที่ถูกส่งมาจากเบื้องล่าง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่มันจะเป็นผลจาก การเย็นตัวและหดตัว เนื่องจากสสารกลายเป็นไอขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งสมาชิกภารกิจของนาซาบอกว่าพวกเขาจะไม่ด่วนสรุปในข้อสันนิษฐานของพวกเขา จนกว่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจาก นิว โฮไรซอน
ดร. เจฟ มัวร์ หัวหน้าฝ่ายธรณีวิทยา, ธรณีฟิสิกส์ และรูปภาพของทีมภารกิจนิว โฮไรซอน กล่าวว่า “เมื่อผมเห็นภาพทุ่งสปุตนิกครั้งแรก ผมก็ตัดสินใจที่จะเรียกมันว่า ภูมิประเทศที่ยากจะอธิบาย”
นอกจากนี้ ทีมภารกิจยังเปิดเผยภาพแรกของ ‘นิกซ์’ 1 ในดวงจันทร์ 5 ดวงของดาวพลูโต โดยเป็นภาพความละเอียดต่ำในระดับจุดพิกเซล เพราะ นิกซ์ มีขนาดเพียง 40 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้รูปทรงของมันซึ่งพวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนแล้ว
ข้อมูลที่ส่งมาจากยานนิว โฮไรซอน ยังมีข้อมูลเรื่องการวัดปริมาตรอื่นซึ่งทำให้นาซาพบว่า ดาวพลูโตอาจกำลังสูญเสียบรรยากาศประมาณ 500 ตันต่อชั่วโมง โดยเป็นผลจากอนุภาคที่มีพลังงานซึ่งดวงอาทิตย์ปล่อยออกมา กอปรกับขนาดที่เล็กมากของดาวพลูโต ทำให้มันไม่มีแรงโน้มถ่วงเพียงพอจะเหนี่ยวรั้งบรรยากาศเอาไว้ ต่างจากดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเช่น ดาวอังคาร ซึ่งสูญเสียบรรยากาศเพียง 1 ตันต่อชั่วโมง
ส่วนผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้ ดร. ฟราน เบกานัล หนึ่งในผู้ตรวจสอบภารกิจนิว โฮไรซอน จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดกล่าวว่า “หากคุณเพิ่มบรรยากาศที่เสียไปให้เท่ากับอายุของระบบสุริยะจักรวาล มันจะเท่ากับภูเขาน้ำแข็งไนโตรเจนที่มั่นคงแข็งแรงสูงประมาณ 1,000-9,000 ฟุต หายไป” ดร.เบกานัลเสริมด้วยว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงพอจะทำให้บรรยากาศของดาวพลูโตหายไปทั้งหมด แต่มันจะส่งผลกระทบต่อพื้นผิว ซึ่งน้ำแข็งจะกลายเป็นไออย่างต่อเนื่อง
นาซาเผยภาพขยายแสดงพื้นผิวของดวงจันทร์ ชารอน ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวพลูโต (ภาพ: AP/NASA)
ทั้งนี้ ยาน นิว โฮไรซอนจะยังคงสังเกตการณ์ดาวเคราะห์แคระดวงนี้รวมถึงดาวบริวารทั้ง 5 ของมัน ซึ่งประกอบด้วยดวงจันทร์ ชารอน, สติกซ์, นิกซ์, เคอร์เบอรอส และ ไฮตรา ต่อไป ถึงแม้ในขณะนี้มันจะเคลื่อนตัวออกห่างจากระบบของดาวพลูโตไปแล้วกว่า 3 ล้านกิโลเมตร แต่ก็ยังมีสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้อีกมากจากการดูด้านหลังของดาวดวงนี้
นาซาระบุว่า นิว โฮไรซอนพยายามจะศึกษาเสี้ยวของดาวพลูโต เพื่อดูว่ามีหมอกหรือแม้แต่เมฆในบรรยากาศที่แทบจะไม่มีอะไรเลยของมันหรือไม่ นอกจากนี้ยังพยายามมองหาวงแหวน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า พลูโต อาจถูกห้อมล้อมด้วยอนุภาคของฝุ่นและน้ำแข็ง และมันอาจสะท้อนกับแสงอาทิตย์ทำให้พบพวกมันได้ง่ายขึ้นหากดูจากด้านหลังของดาวพลูโต
อนึ่ง จนถึงขณะนี้ยาน นิว โฮไรซอน ส่งข้อมูลกลับมายังโลกได้เพียง 2-3% ของข้อมูลทั้งหมดที่มันรวบรวมไว้เท่านั้น เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกลถึง 4.7 พันล้านกิโลเมตร และระบบส่งสัญญาณแบบเสาอากาศบนยาน สามารถส่งข้อมูลได้เฉลี่ยที่วินาทีละ 1 กิโลไบต์เท่านั้น
นิว โฮไรซอน สามารถเพิ่มความเร็วในการส่งข้อมูลได้ หากมันปิดเครื่องวัดความเร็ว ทิศทาง และแรงโน้มถ่วง (inertial measurement unit: IMU) ที่กินพลังงานมาก และหมุนยานเพื่อรักษาทิศทางให้มั่นคง แต่มันไม่สามารถทำเรื่องเหล่านี้ไปพร้อมกับถ่ายภาพได้ และมันจะไม่ทำเช่นนั้น จนกว่ามันจะสังเกตการณ์ดาวพลูโตหมุนรอบตัวเองครบ 2 รอบ และถ่ายภาพสุดท้ายในวันที่ 30 ก.ค.นี้
จากนั้น นิว โฮไรซอน จะส่งข้อมูลทั้งหมดซึ่งมีประมาณ 50 กิกะไบต์ที่ถูกบีบอัดแล้วกลับมาในช่วงเดือนก.ย. ก่อนจะส่งข้อมูลแบบไม่ได้บีบอัดกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งศาสตราจารย์ อลัน สเติร์น หนึ่งในทีมภารกิจนิว โฮไรซอนระบุว่า กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 16 เดือน.