ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

นักวิทยาศาสตร์นาซ่าโครงการเคปเลอร์ แถลงข่าวสุดตื่นเต้น ยานเคปเลอร์พบดาวเคราะห์ ‘เคปเลอร์ -452b’ มีลักษณะคล้ายโลกของเรามากที่สุดเท่าที่เคยพบมา เพียงแค่ใหญ่กว่า -แก่กว่า จนถือเป็นก้าวแรกของการไขปริศนา คำถามที่ว่า โลกเราอยู่เพียงลำพังในจักรวาลนี้หรือไม่

EyWwB5WU57MYnKOuXuYAao59YI1OaL7qCaavSs5dzUk3CG2G7eHLOc

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 58 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยเรื่องที่น่าตื่นตะลึง ผลจากการส่งยานสำรวจเคปเลอร์ (Kepler) ไปสำรวจ หาดาวเคราะห์ดวงอื่นที่มีลักษณะคล้ายโลก และอยู่ในพื้นที่ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (Habitable Zone) ในห้วงอวกาศ นอกเหนือจากระบบสุริยจักรวาลของเรา ปรากฏว่า ได้พบดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีขนาดใกล้เคียงกับโลกมนุษย์เป็นครั้งแรก และดาวเคราะห์ดวงนี้ ถูกตั้งชื่อว่า ‘เคปเลอร์-452b’ หรือมีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โลก 2.0 (Earth 2.0) โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ ซึ่งเหมือนกับดวงอาทิตย์

นาซา ระบุว่า ดาวเคปเลอร์-452b อยู่ห่างจากระบบสุริยจักรวาลของเรา ประมาณ 1,400 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 60% และอยู่ในพื้นที่ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต เพียงแต่ตอนนี้ นาซายังไม่มั่นใจว่า ดาวเคปเลอร์-452b มีก้อนหิน ลักษณะเหมือนกับหินบนโลก รวมทั้งมีน้ำและอากาศหรือไม่ จนทำให้การพบดาวเคปเลอร์-452b ถือเป็นการพบดาวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโลกมากที่สุดเท่าที่เคยพบมาเลยทีเดียว

ดาวเคปเลอร์-452bใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ 385 วัน คล้ายคลึงกับโลกมาก ที่ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 365 วันเป็นหนึ่งปี นอกจากนั้น ดาวเคปเลอร์-452b ยังมีอายุแก่กว่าโลก เพราะมีอายุประมาณ 6พันล้านปี ซึ่งเป็นระยะเวลานานเพียงพอสำหรับการก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิต

‘นี่เป็นก้าวแรกอย่างแท้จริง และเป็นก้าวแรกของมนุษยชาติ ต่อการไขคำตอบของคำถามที่ว่า พวกเราอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพังในจักรวาลนี้หรือไม่ ?’ จอห์น เจนกินส์ นักวิจัยจากสถาบัน SETI ในโครงการเคปเลอร์ แถลงข่าวที่นาซา ด้วยความตื่นเต้น พร้อมกับกล่าวว่า ‘คุณและผมคงไม่สามารถจะไปยังดาวเคราะห์เหล่านี้ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา แต่รุ่นหลานของหลานเรานั้น อาจจะได้ไป’

ข่าวแจ้งว่า ก่อนที่ยานเคปเลอร์จะสำรวจพบดาวเคปเลอร์-452b นั้น เคยพบดาวที่มีลักษณะคล้ายโลกมาแล้วเมื่อปีก่อน ชื่อว่า ดาวเคปเลอร์-186f โคจรอยู่ใน Habitable Zone เช่นกัน เพียงแต่มีความแตกต่างระหว่างดาวเคปเลอร์-186f กับ ดาวเคปเลอร์-452b อยู่ตรงที่การโคจรรอบดาวหลัก เพราะดาวเคปเลอร์-186f เหมือนโคจรอยู่รอบดาวเคราะห์แคระสีแดง ขณะที่ ดาวเคปเลอร์-452b โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์

ทั้งนี้ ยานสำรวจเคปเลอร์ อาจถูกเรียกอีกชื่อว่า ‘กล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์’ เนื่องจากถูกออกแบบให้มีลักษณะเหมือนกล้องโทรทรรศน์ในอวกาศ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยจรวดเดลต้าทู จากฐานยิงที่แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 เพื่อทำการตรวจจับดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกของเรา โดยยานเคปเลอร์จะมองหาดวงดาวที่อยู่รอบๆ ดาวฤกษ์ ใกล้กับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา และยานเคปเลอร์ได้พบดาวเคราะห์มาแล้ว 4,696 ดวง และเหลือดาวเข้าชิงว่ามีลักษณะคล้ายโลก 1,030 ดวง

เรื่องน่าสนใจ