ที่มา: Matichon Online

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม รศ.นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง และหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อปี 2559 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้มีการตรวจสอบ และเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ที่ทำศัลยกรรมเต้านมประมาณ 5-10 ล้านคน ซึ่งจริงๆ อาจจะมากกว่านี้ พบว่ามีการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่มีการเสริมเต้านมเทียม แต่ไม่ได้เป็นแบบแพร่กระจาย 200 กว่าคน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกะทันหัน ส่วนใหญ่ทำมานาน 15-20 ปี จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเสริมเต้านมเทียมหรือไม่ จริงๆ ถือว่าน้อยมากและไม่มั่นใจว่ามีความสัมพันธ์กันจริง จึงได้ขอความร่วมมือไปยังศัลยแพทย์ตกแต่งทั่วโลกให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังในกลุ่มคนที่มีเสริมเต้านมเทียมและรายงานเพื่อทำการศึกษาต่อไป ส่วนประเทศไทยตอนนี้สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ได้แจ้งให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ และกำชับให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังเช่นกัน แต่ยังไม่มีรายงานว่าคนที่เสริมเต้านมไปแล้วจะมีปัญหาแต่อย่างใด ทั้งนี้วิธีสังเกตคือเกิดการอักเสบ บวม แดง เป็นต้น ถ้าพบความผิดปกติก็ขอให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะอาจจะมีการติดเชื้ออย่างอื่นก็ได้ 

ด้าน นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสร้าง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การทำศัลยกรรมทุกประเภทไม่ใช่ว่าอยากทำก็สามารถทำได้เลย แต่ผู้เชี่ยวชาญต้องมีการตรวจประเมินของผู้ป่วยก่อนเพื่อวางการทำศัลยกรรมที่เหมาะสมกับผู้รับบริการรายนั้นๆ เช่นการเสริมหน้าอก ต้องมีการตรวจประเมินก่อนว่าเต้านมนั้นๆ มีความผิดปกติหรือไม่ มีโรคอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ หากพบความผิดปกติต้องทำการรักษาโรคเดิมก่อน โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้ตรวจอัลตร้าซาวด์ หรือแมมโมแกรมดูพื้นฐานของหน้าอก อย่างไรก็ตาม กรณีพบคนที่ศัลยกรรมหน้าอกแล้วป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นนั้น ที่จริงโรคมะเร็งเต้านมก็พบเป็นอันดับต้นๆ ของโรคมะเร็งในสตรีอยู่แล้ว แต่ยืนยันว่าการศัลยกรรมเต้านมเทียมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น และไม่ได้เป็นอุปสรรค์ในการตรวจคัดกรองโรค หรือให้นมบุตร

“บางคนบอกว่าหน้าอกไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ จริงๆ เนื้อหน้าอกเท่ากัน แต่กระดูกไม่เท่ากัน หรือบางคนมีภาวะกระดูกสันหลังคดโดยไม่รู้ โดยทั่วไปผู้หญิงอายุเกิน 40 ปี แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์หรือแมมโมแกรมเพื่อดูพื้นฐานหน้าอกว่ามีอะไรหรือไม่ เวลาไปศัลยกรรมอย่าวิ่งไปคลินิกแล้วบอกว่า 300 ซีซี หรือจะกี่ซีซีก็ตาม แต่ควรปรึกษาว่าหน้าอกเป็นอย่างนี้ต้องทำอย่างไร บางคนอาจจะเหมาะกับแค่การยกกระชับก็ได้ ดังนั้นการผ่าตัดไม่ใช่การใส่อะไรก็ได้ แต่ตรวจโรค ตรวจขนาด ทรง และเลือกโมเดล” นพ.วิษณุ กล่าว

เรื่องน่าสนใจ