ที่มา: Kapook.com

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2562 ที่ผ่านมานั้น นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ได้มีการทำแคมเปญลงชื่อ ขอให้ทางคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจสอบจริยธรรม และพฤติกรรมเหยียดเพศ ของผศ.ดร.นิรันดร์ แสงสวัสดิ์ (อ.พิเศษ ของรายวิชาจิตวิทยาการศึกษาและจิตวิทยาสำหรับครูฯ)  

 

นิสิตจุฬา

 

เนื่องด้วยไม่นานมานี้ ได้มีการเผยแพร่ บทความออนไลน์หัวข้อ “ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่นิสิตคณะครุศาสตร์จะ “ไม่นิ่งเฉย” ต่อทัศนคติเหยียดเพศของอาจารย์วิชาจิตวิทยาฯ” (อ่านบทความดังกล่าวได้ที่ http://nisitreview.com/309 ) โดยได้กล่าวถึงคำพูดหน้าชั้นเรียนและทัศนคติของ ผศ.ดร.นิรันดร์ แสงสวัสดิ์ ที่ได้แสดงทัศนคติเหยียดเพศ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ว่า “ครุศาสตร์ให้พวกะเทยมาเรียนก็บุญแล้ว” “พวกตุ๊ดไม่สมควรได้เรียนหนังสือ ไปแก้ไขตัวเองให้ได้ก่อน” “กะเทยเป็นพวกวิปริตผิดเพศ ไม่สมควรจะเป็นครู” “ทอมเนี่ย ถ้าโดนผู้ชายขืนใจสักครั้งสองครั้ง รับรองติดใจ เปลี่ยนพฤติกรรม กลับเป็นหญิงแน่นอน”

นอกจากนี้บทความดังกล่าวนั้นยังได้พูดถึงการใช้อำนาจความเป็นครูที่ไม่เหมาะสม ถึงเรื่องการตัดสินพิจารณาความผิดในฐานะกรรมการที่ควรจะให้ความเป็นธรรม แต่เพราะการมีทัศนคติที่ไม่เท่าเทียมทางเพศ ทำให้เขาเคยกล่าวออกมาว่า “มีนิสิตชายคนหนึ่งถูกฟ้องว่าทำร้ายร่างกายตุ๊ดซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน …ก็คือผู้ชายอ่ะเนอะ เดิน ๆ ไปเหลือบเห็นอะไรขวางลูกหูลูกตา เห็นอะไรผิดปกติ มันก็ต้องทนไม่ได้ ต้องเข้าไปเตะต่อยสักยกสองยก ให้เรียนรู้ว่ามันไม่สมควรมีชีวิตอยู่แบบนั้นต่อหน้าผู้ชายอย่างเรา …ผมเป็นกรรมการ ผมก็พยายามพลิกระเบียบหาช่องทางให้ชายคนนั้นถูกตัดคะแนนน้อยที่สุด เพราะถ้าเป็นผม ผมคงลงไม้ลงมือจัดการกับตุ๊ดพวกนี้ให้หนักกว่านั้นอีกหลายเท่า” อีกทั้งยังเคยกล่าวว่า “อย่าให้เจอนิสิตที่มีพฤติกรรมแปลก ๆ ในห้องนี้ ผมเคยเจอก็หลายคน ผมให้ F พวกนี้ทุกคนโดยไม่ต้องตรวจข้อสอบไฟนอล หรือสนใจคะแนนที่พวกนั้นสะสมมา” โดยถือว่าไม่ใช้เกณฑ์การประเมินผลที่กำหนดไว้ในประมวลรายวิชาด้วย

 

 

ในนามของกลุ่มนิสิตคณะครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจการเคารพให้เกียรติกันในสังคมไทย การเรียนรู้เพื่อยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคม และการใช้อำนาจของครูในชั้นเรียนอย่างเหมาะสม จึงขอเรียกร้องให้คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรม ผศ.ดร.นิรันดร์ แสงสวัสดิ์ พร้อมทั้งกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม กำชับอาจารย์ไม่ให้สอนความคิดเหยียดเพศและต้องเปิดโอกาสให้นิสิตในชั้นเรียนได้โต้แย้งและถกเถียงอย่างเป็นวิชาการ เสรี และไม่มีผลต่อผลการศึกษาของนิสิต ทั้งนี้เพื่อยับยั้งไม่ให้ความคิดเหยียดเพศเหล่านี้ถูกส่งต่อจากอาจารย์ในชั้นเรียนไปสู่นิสิตครูและอาจส่งต่อไปยังนักเรียนในโรงเรียนต่อไป

เรื่องน่าสนใจ