จากคอลัมน์ Market-Think โดย สรกล อดุลยานนท์
กระแสถล่ม “ซีพี“ และ “เซเว่นอีเลฟเว่น“ ทางโซเชียลมีเดีย ตลอดเวลาเกือบเดือน ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากเพราะมีทั้งการปั่นกระแสจากบางกลุ่มที่มีเป้าหมายทั้งเรื่อง “การเมือง-การเงิน” และกระแสที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการลุกลามแบบ “ไฟลามทุ่ง”
ในโซเชียลมีเดียนั้น ถ้าไม่มี “เชื้อไฟ” ที่สะสมมานาน ไฟคงไม่ลามทุ่งขนาดนี้ ถ้าสรุปเร็ว ๆ “เชื้อไฟ” ของกรณีมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก เป็นเรื่องที่ “ซีพี” ยังแก้ไม่ตก ก็คือ เรื่องภาพการทำธุรกิจแบบผูกขาด นอกจาก “ความใหญ่” ขององค์กรที่อยู่ในระดับโลกแล้ว
แนวทางการทำธุรกิจซีพี เหมือน “ต้นไม้” หยั่งรากลึกลงในดิน และแผ่กิ่งก้านไปในอากาศ คือ ทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่อาหารสัตว์ เลี้ยงไก่ ไก่สด อาหารแปรรูป และทุกบริษัทในเครือซีพี ใช้ “ท่าไม้ตาย” นี้เหมือนกันหมด รวมทั้ง เซเว่นอีเลฟเว่นด้วย จากช่องทางการจัดจำหน่าย เริ่มลงรากไปเป็นผู้ผลิตสินค้า ยิ่งสายธารธุรกิจทอดยาวจาก “ต้นน้ำ” ไป “ปลายน้ำ” ยิ่งยาวเท่าไรก็ยิ่งกระทบกับผู้คนที่อยู่รายทางมากเท่านั้น
ภาพประกอบจาก cpall
วันนี้ถือว่าดีขึ้นนะครับ เพราะสมัยก่อน คำกล่าวหา ซีพี เรื่องการผูกขาด แรงกว่านี้อีก ส่วนหนึ่งเพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องธุรกิจมากขึ้น แต่ก็ยังค้างคาในใจคนจำนวนไม่น้อยเชื้อไฟ ที่สองก็คือเรื่อง 7-11 7-11 วันนี้ กลายเป็นธุรกิจที่ผูกพันกับชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ สำหรับผู้ใช้บริการ ผมถือว่าเซเว่นอีเลฟเว่น ทำได้ดีมาก ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ครบถ้วน
แต่ในบางมุม แม้จะเป็นแค่ “ลูกค้า” ไม่ใช่ “ซัพพลายเออร์” ผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า 7-11 ก็เล่นแรงเกินไป โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์ของตัวเอง ที่เลียนแบบสินค้าหลักชัดเจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างจาน เครื่องดื่มผสมนมเปรี้ยว ฯลฯ ขวดคล้ายกันมาก ไม่ได้ผิดกฎหมายหรอกครับ แต่รู้สึกว่าไม่น่าทำ ขนาดผมเป็น “แฟนคลับ” ของ 7-11 ยังรู้สึกเลย
นี่แหละครับ คือ “เชื้อไฟ” กรุ่น ๆ แต่ไม่ปะทุ พอเกิดเรื่อง “ไทยแลนด์บานาน่า” ขึ้นมา ก็เหมือน “ประกายไฟ” ที่หล่นใส่ “เชื้อไฟ” ชั้นดี …ไฟจึงลามทุ่ง จริงหรือไม่จริง เราคงต้องฟังความทั้ง 2 ด้าน แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “ความจริง” ปัญหานั้นอยู่ที่ “ความเชื่อ” ความเชื่อที่สะพัดในโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่จะเห็นใจและสงสารผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของคนไทย ที่มักเชียร์ “มวยรอง” ปัญหาครั้งนี้ ทั้งซีพีและเซเว่นอีเลฟเว่นคงต้องกลับมามองตัวเองอย่างละเอียด
ภาพประกอบจาก cpall
ต้องมองตัวเองอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง อย่าคิดเพียงแค่มุมว่า เราได้ทำอะไรดี ๆ ตั้งเยอะแยะ หรือแต่ละเรื่องเรามีเหตุผลในการทำอย่างไร ต้องกล้าเดินออกจากมุมของตัวเอง แล้วไปนั่งฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างจริงจัง ฟังเยอะ ๆ อธิบายน้อย ๆ แล้วจะรู้ต้นเหตุของปัญหา บางอย่างเราไม่ได้ทำ แต่คนอื่นคิดว่าเราทำ หรือบางอย่างเราคิดว่าเป็นเรื่องการแข่งขันปกติของธุรกิจ แต่คนตัวเล็กไม่รู้สึกอย่างนั้น เหมือนมวยรุ่นฟลายเวต ชกกับเฮฟวีเวต ยังไงก็เสียเปรียบ และบังเอิญ “คนตัวเล็ก”
ในเมืองไทย เป็นเสียงส่วนใหญ่ด้วย บางที 7-11 ต้องคิดแบบกีฬากอล์ฟ ต้องมีแฮนดี้แคป หรือแต้มต่อให้กับคนตัวเล็กบ้าง วันนี้ซีพีและเซเว่นอีเลฟเว่นคือ “ยักษ์ใหญ่” การทำธุรกิจแบบ ยักษ์ใหญ่ จึงต้องระมัดระวังครับ ต้องคิดถึงคนตัวเล็กเยอะ ๆ อย่าคิดเพียงว่า สิ่งที่ทำไม่ผิดกฎหมาย หรือเป็นไปตามหลักการค้าเสรีเพียงอย่างเดียว ต้องคิดด้วยว่า อะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุด สำหรับโลกยุคโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่เรื่อง “เหตุผล” แต่เป็นเรื่อง “ความรู้สึก” ถ้ารู้สึก และเชื่อแล้ว ชี้แจงอย่างไรก็ไม่เป็นผล เรื่องแบบนี้ ยิ่ง “ตัวใหญ่” ยิ่งต้องระวังครับ