นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเร่งรัดทําการตลาดเชิงกลยุทธ์ในตลาดหลักเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (Niche Market) ว่า ทูตพาณิชย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (HTA) ในสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันทำการตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเข้าสู่เรือนจำของสหรัฐฯ
โดยสินค้าดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก เปรียบเสมือนเป็นสินค้ามูลค่าสูงทดแทนการใช้จ่ายในรูปแบบเงินตราเนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีรสชาติถูกปากและมีความหลากหลายจึงได้กลายเป็นอาหารเลิศรสสำหรับนักโทษในเรือนจำ
“ในเรือนจำสหรัฐฯ มีระบบเศรษฐกิจของตนเองนักโทษไม่ได้ใช้จ่ายด้วยเงินสด แต่ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนสินค้า (Barter System) สินค้าแต่ละประเภทจะมีมูลค่าที่แตกต่างกันและจะสามารถแลกเปลี่ยนกับสินค้าประเภทอื่นๆ ได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน
สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเศรษฐกิจเรือนจำสหรัฐฯ คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยถูกยกให้เป็นมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ในระบบเรือนจำ” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
ปัจจัยหลักที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยมในหมู่นักโทษคือคุณภาพที่ลดลงและรสชาติที่ไม่ถูกปากของอาหารในเรือนจำเนื่องจากงบประมาณด้านอาหารของนักโทษไม่สามารถตอบสนองต่อจำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นในเรือนจำของสหรัฐฯได้
ดังนั้นส่งผลให้นักโทษจำนวนมากต้องบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อทดแทนอาหารหลัก นอกจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะมีราคาถูกและมีรสชาติที่ดีกว่าอาหารเรือนจำแล้วยังง่ายต่อการปรุงและให้พลังงานสูง อีกทั้งยังสามารถหาซื้อได้ที่ร้านค้าของเรือนจำอีกด้วย
การศึกษาระบบเศรษฐกิจในเรือนจำสหรัฐฯ พบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นเงินตราสำคัญในเรือนจำ และมีการประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย
เช่นการนำมาบริโภค การใช้เป็นค่าตอบแทนในการบริการต่างๆ หรือการใช้แลกเปลี่ยน/ซื้อสินค้าอื่นๆ เช่นแปรงสีฟัน เสื้อผ้า ผลไม้ ทั้งนี้แบรนด์ที่ได้รับความนิยมคือแบรนด์ที่เรือนจำนำเข้ามาจำหน่ายเท่านั้นซึ่งทำให้เกิดการครองตลาดของแบรนด์ดังกล่าวไปโดยปริยาย
รายงานสถิติการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปส่งออกไทยไปทั่วโลกพบว่า เมื่อปี 2558 มีการส่งออกรวม 1,069 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกไปสหรัฐฯสูงเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นมูลค่า 170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามมาด้วยเมียนมา และจีน
ทั้งนี้การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรก(มกราคม – กรกฎาคม) ของปีนี้ ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 คิดเป็นมูลค่า 640 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเป็น จีน ฟิลิปปินส์ และเมียนมา โดยแนวโน้มการส่งออกในตลาดอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซียส่วนตลาดยุโรป มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดสหราชอาณาจักร และเนเธอแลนด์ เป็นต้น
ข้อมูล ภาพ จาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ , sahaphap