ผู้สื่อข่าว เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ (4 มกราคม 2560 ) ที่โรงพยาบาลเลิดสิน กรุงเทพมหานคร นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี ที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุชนกันแล้วพลิกคว่ำระหว่างนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระปกเกล้าฯ จังหวัดจันทบุรี แล้วส่งมารักษาต่อที่โรงพยาบาลเลิดสิน
โดยพบกระดูกไขสันหลังเคลื่อนและบาดเจ็บของไขสันหลัง มีอาการชาที่ขาว่า การบาดเจ็บของพยาบาลท่านนี้ เป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ราชการ ในวันนี้ได้มาให้กำลังใจ ให้การช่วยช่วยเหลือในสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะทำให้ได้
อันดับแรกคือขวัญกำลังใจ ให้ความมั่นใจในสิ่งที่ผู้ป่วยกังวล เช่น ให้มั่นใจว่าจะได้รับการดูแลรักษาให้ดีที่สุด ให้ความมั่นใจว่ายังสามารถรับราชการต่อได้ ตามระเบียบของทางราชการ แม้การรักษาจะต้องใช้เวลานาน รวมทั้งข้อกังวลในเรื่องการดูแลคุณพ่อของผู้ป่วยที่อายุ 90 ปี เวลาที่คุณพ่อเจ็บไข้ได้ป่วย ยืนยันว่ามีเครือข่ายดูแลจุดนี้ให้ได้
เรื่องที่ 2 เรื่องเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้ให้บริการ ได้มอบผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอ้างอิงระเบียบของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมาตรา 44 ซึ่งจำนวนเงินที่ได้อาจจะไม่มากนัก
แต่ภายในเขตสุขภาพมีการดูแลช่วยเหลือกันอยู่แล้วเป็นน้ำใจที่มีต่อกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างศึกษาระเบียบของกระทรวงการคลัง โดยให้แนวทางการชดเชยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการดูแลผู้ป่วย เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเปรียบเทียบกับทหารตำรวจที่ปฏิบัติงานหน้าที่ราชการ ซึ่งทางกระทรวงฯ พยายามเร่งรัดดำเนินการขยายความครอบคลุมทั้งอุบัติเหตุ รวมทั้งโรคอุบัติใหม่อื่นๆ
สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งรัดคือ มาตรการเรื่องการดูแลของรถพยาบาลป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและสั่งการให้ทุกโรงพยาบาล รถพยาบาลต้องทำประกันชั้น 1 พร้อมย้ำผู้บริหารต้องให้ดูแลเรื่องรถพยาบาลไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
หากพบต้องสอบสวนหาสาเหตุและวางแผนป้องกันและไม่ให้เกิดอีก ซึ่งขณะนี้ได้มอบเป็นนโยบายให้รถพยาบาลทุกคันติดตั้งจีพีเอส ควบคุมความเร็ว ติดกล้องในรถพยาบาลเพื่อดูพฤติกรรมคนขับด้วย จัดอบรมพนักงานขับรถ เป็นต้น
“ต้องลดเรื่องของการบาดเจ็บในท้องถนนให้ได้มากที่สุด รัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการอย่างเต็มที่ ขณะนี้จำนวนรถในท้องถนนมีจำนวนมาก ต้องมีการบริหารจัดการในเชิงระบบการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งคน รถ และสภาพแวดล้อม ถนนหนทาง ที่สำคัญคือ พฤติกรรมของคนขับ ผู้โดยสาร ที่ต้องมีความตระหนักเรื่องความปลอดภัย”