วันที่ 5 ธ.ค. บีบีซีรายงานสารคดีสิ่งแวดล้อม อ้างอิงข้อมูลรายงานจากวารสารวิชาการ Conservation Biology ว่าในทุกเดือน ชาวประมงในอ่าวไทยต้องเสี่ยงชีวิตไปจับงูทะเลที่เป็นภัยต่อทั้งคนจับที่อาจถูกกัดและงูทะเลที่จำนวนประชากรเสี่ยงลดลงจนกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาทางทะเล
รายงานฉบับนี้ นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้จับตาผลกระทบจากการจับงูทะเลที่จะส่งผลต่อประชากรและระบบนิเวศวิทยาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องนับจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2552
จากการสังเกตพบว่าชาวประมงใช้แหและตะขอตกหมึก ซึ่งในเวลาเดียวกันก็จับงูมาด้วยหลายร้อยต้ว โดยเฉพาะงูมีพิษที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ปกติแล้วชาวประมงจะออกหาสัตว์น้ำในตอนกลางคืน โดยมีลูกเรือตั้งแต่ 7-25 คนใช้ไฟล่อหมึก ซึ่งมีผลล่องูทะเลด้วยในเวลาเดียวกัน
การค้างูทะเลเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จาก 20 ปีก่อนที่มีเรือออกล่าราว 20-30 ลำ ปัจจุบันตกปีละกว่า 700 ลำ และจับงูได้มากกว่า 80 ตัน ในจำนวนนี้จะมี 7 ชนิดที่ถูกจับบ่อย และชนิดที่จับได้บ่อยที่สุดคืองูฮาร์ดวิก กับงูแถบดำ (Hardwick′s sea snakes กับ black-banded sea snakes)
เมื่องูถูกจับมาขึ้นฝั่ง ชาวประมงจะใข้เวลาแยกงูและชั่งน้ำหนักได้รวดเร็วมาก ภายในไม่กี่นาทีแยกได้ 20-30 ก.ก. สำหรับงูตัวเล็กที่หนักประมาณ 500 กรัม ถ้าจะแยกออกมา ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ได้งูเล็กทันที 60 ตัว ทั้งถือด้วยมือเปล่า บางครั้งเดินย่ำไปบนกองงูด้วยเท้าเปล่า
ในกรณีทีถูกงูกัด ความที่ประเทศนี้มีเซรุ่มแก้พิษไม่มาก ชาวประมงจะใช้ใบมีดโกนผ่าผิวหนังตรงที่โดนกัดเพื่อรีดพิษออกมา บางคนใช้กระเทียมและนอแรดบรรเทาด้วย
โซลทาน ทาคักส์ จากสมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติ ผู้ร่วมเขียนรานงานฉบับนี้กล่าวว่า ประโยชน์จากการทำธุรกิจนี้ต้องแลกกับการถูกงูกัด ในช่วงเวลาที่ไปเก็บข้อมูล มีชาวประมงถูกกัด 7 ครั้ง แต่ไมีมีใครเสียชีวิต
สำหรับงูที่จับได้ไม่มีส่วนใดทิ้งไปเฉยๆ ส่วนใหญ่เนื้อถูกนำไปทำอาหาร ทั้งต้มทั้งผัด และทำเครื่องดื่ม เช่นเหล้ายาดอง ส่วนใหญ่ส่งออกไปจีนและเวียดนาม มีผู้อ้างสรรพคุณแก้ปวดหลัง แก้นอนไม่หลับและแก้ระบบกินอาหารผิดปกติ ซึ่งความต้องการที่มากขึ้นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เป็นห่วงว่างูจะถูกล่าเกินประมาณสมดุลทางธรรมชาติ
ที่มา ข่าวสด