ผลการศึกษาใหม่ล่าสุด ดำเนินการโดยสถาบันเพื่อการวัดและประเมินภาวะสุขภาพ (ไอเอชเอ็มอี) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ บิลแอนด์เมลินดา เกตส์ ซึ่งถือเป็นการวิเคราะห์วิจัยทางด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยอาศัยแหล่งข้อมูลมากมายถึงกว่า 35,000 แหล่ง จาก 188 ประเทศ พบว่าอัตราส่วนของผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเกือบครึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจากการที่โรคอ้วนเริ่มระบาดในประเทศกำลังพัฒนา โดยพบว่ามีอัตราการเพิ่มสูงมากในประเทศอย่างจีน เม็กซิโก และอินเดีย เป็นต้น
ผลวิจัยที่เผยแพร่ในเดอะ แลนเซท วารสารวิชาการด้านการแพทย์ของประเทศอังกฤษ เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าในช่วง 20 ปี ระหว่างปี 1990-2013 ความชุกของโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 45 เปอร์เซ็นต์ เกือบทั้งหมดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเชื่อมโยงอยู่กับการเป็นโรคอ้วน และเป็นเบาหวานชนิดที่พบกันมากที่สุด ในขณะเดียวกันการเสียชีวิตจากโรคติดต่ออย่างเช่นมาลาเรียและวัณโรคลดลงอย่างฮวบฮาบ สวนทางกับโรคเรื้อรังอย่างเช่นมะเร็งและเบาหวาน
ในการจัดทำอันดับของโรคที่ก่อให้เกิดความพิการด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านนั้น พบว่า 5 อันดับแรกยังไม่เปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย อาการปวดหลังด้านล่าง, อาการเครียดจัด, โรคโลหิตจาง, โรคปวดคอ และโรคสูญเสียการได้ยินเพราะสูงวัย อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานถีบตัวขึ้นมาจากอันดับ 10 ในปี 1990 มาเป็นอันดับ 7 ในปี 2013
จีนอันเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เป็นตัวผลักดันที่ทำให้สัดส่วนทั่วโลกสูงขึ้น เนื่องจากความชุกของโรคในจีนเพิ่มสูงขึ้นราว 56 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตราส่วนการเพิ่มสูงสุด อัตราการเพิ่มในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นถึง 71 เปอร์เซ็นต์ ต่อด้วยซาอุดีอาระเบียที่เพิ่ม 60 เปอร์เซ็นต์ เม็กซิโกเพิ่ม 52 เปอร์เซ็นต์
ในซาอุดีอาระเบียนั้น อัตราส่วนของความชุกของโรคอยู่ที่ 17,817 เคสต่อ 100,000 คนในปี 2013 สูงกว่าจีนซึ่งอยู่ที่ 6,480 เคสต่อ 100,000 คนกว่าเท่าตัว ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับจีน คือ 6,630 เคสต่อ 100,000 คน
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความชุกของโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ป่วยเบาหวานมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น เนื่องจากระบบบริการทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนได้ดีขึ้นนั่นเอง
ในสหรัฐอเมริกา การเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานจากโรคแทรกอย่างหัวใจวาย, ภาวะเส้นเลือดในสมองแตก, ไตวาย และต้องถูกตัดแขน-ขา ลดน้อยลงอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีทั้งระบบตรวจสอบระบบการรักษาและการประกันสุขภาพที่ดีขึ้น ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างเช่นจีนก็มีระบบรักษาโรคนี้ที่ดีขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ธีโอ วอส ศาสตราจารย์ด้านโกลบอล เฮลธ์ ชี้ว่า การมีชีวิตอยู่ยาวนานของผู้ป่วยเบาหวานแม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้สูงขึ้น
ในขณะที่ระบบสุขภาพในประเทศที่มีรายได้ต่ำจำนวนมากยังคงมุ่งเน้นไปในทิศทางที่ผิดพลาด นั่นคือมุ่งไปในการพัฒนาระบบการรักษาโรคจากการติดเชื้อและโรคติดต่อซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงมามุ่งเน้นไปที่โรคเรื้อรังอย่างเช่นมะเร็งและเบาหวานได้แล้ว