ที่มา:
voicetv
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีปัจจัยหลายประการที่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนของเบาหวานที่ทำให้มีโอกาสเกิดแผลที่เท้า เช่น ภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดดำทำให้เท้าเกิดภาวะขาดเลือดและแผลหายช้า , น้ำตาลในเลือดสูงทำให้ระบบภูมิต้านทานบกพร่อง ส่งผลให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ง่ายลุกลามเร็ว ซึ่งการเกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานสามารถป้องกันได้
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันการเกิดแผลที่เท้า
- สำรวจเท้าทุกวันรวมทั้งบริเวณซอกนิ้ว รอยโรคที่ควรดู ได้แก่ แผล หนังด้านแข็ง ตาปลา หรือการติดเชื้อรา ถ้ามีปัญหาทางสายตาหรือก้มตรวจเท้าไม่ได้ ควรให้ญาติมาช่วยตรวจให้
- ทำความสะอาดเท้าวันละสองครั้งด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อน และทุกครั้งที่เปื้อนสิ่งสกปรก เช็ดเท้าให้แห้ง
- ถ้าผิวแห้งควรทาครีมโลชั่นบางๆ ไม่ทาซอกนิ้ว เนื่องจากอาจทำให้อับชื้น
- ห้ามแช่เท้าในน้ำร้อน ใช้กระเป๋าน้ำร้อนวาง หรือใช้เครื่องฮีทเตอร์เป่าเท้า
- ควรตัดเล็บตามแนวของเล็บเท่านั้น ไม่ตัดสั้นเกินไปจนถึงจมูกเล็บ ห้ามแคะและตัดเนื้อจนเกิดบาดแผล
- ห้ามตัดตาปลาหรือหนังด้านแข็งด้วยตัวเอง หรือใช้สารเคมีใดๆลอกตาปลา
- ห้ามเดินเท้าเปล่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะพื้นผิวที่ร้อน เช่น ซีเมนต์หรือหาดทราย
- เลือกใส่รองเท้าที่พอดี เหมาะสมกับรูปเท้า และทำจากวัสดุที่นุ่ม
- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่ทำด้วยยางหรือพลาสติก รองเท้าแตะที่ใช้นิ้วคีบ
- ไม่ควรสวมรองเท้าใหม่เป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อเนื่องกัน ควรสวมรองเท้าเก่าสลับ จนกว่าจะมีความนุ่มและเข้ากับรูปเท้า ควรผึ่งรองเท้าที่ไม่ได้ใส่ให้แห้ง เพื่อลดความอับชื้น
- สวมถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า ถุงเท้าควรทำจากผ้าฝ้าย ไม่มีตะเข็บและไม่รัดแน่นเกินไป และควรเปลี่ยนทุกวัน
- สำรวจรองเท้าก่อนใส่ว่ามีสิ่งแปลกปลอมในรองเท้าหรือไม่
- ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ดี
- หยุดสูบบุหรี่