เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่สกายสตูดิโอ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ กองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016 จัดงานประกาศผลงานชนะเลิศการออกแบบชุดประจำชาติ 2016 ที่จะให้ “น้ำตาล” ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016 สวมขึ้นอวดโฉมบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2016 โดยมีผลงานเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ จุฬาลอยลม, ยักษ์ยิ้มสยาม, เศวตกุญชร ยุทธหัตถี, หนุกุมารี และ Jewel of Thailand ซึ่งมีคณะกรรมการตัดสิน ประกอบด้วย อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, รศ.เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา, นงนาถ จิรกิติ ห้องเสื้อโนริโกะ, ยุทธพันธ์ ไชยทิพย์ หัวหน้างานส่งเสริมบริการทั่วไป กองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ชิชญาสุ์ กรรณสูต ผู้จัดการกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ และรองกรรมการผู้จัดการบริษัท จันทร์ 25 จำกัด และ ‘น้ำตาล’ ชลิตา ส่วนเสน่ห์ ร่วมพิจารณา
สำหรับเกณฑ์การให้คะแนน ประกอบด้วน แนวคิวในการออกแบบและแรงบันดาลใจ สิ่งที่สื่อถึงความเป็นไทย ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้จริงในการตัดเย็บ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท และหากได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2016 จะได้รับรางวัลอีก 30,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากผู้ออกแบบได้นำเสนอผลงานการออกแบบชุดประจำชาติครบทั้ง 5 ชุดแล้ว อาจารย์ปัญญาได้เป็นตัวแทนขึ้นประกาศผลการตัดสินรางวัลชนะเลิศการออกแบบชุดประจำชาติที่ ได้แก่ Jewel of Thailand ของนายหิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล อายุ 36 ปี นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยนายหิรัญกฤษฏิ์เป็นผู้ที่เคยคว้ารางวัลชนะเลิศการออกแบบชุดตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์ ปี 2015
นายหิรัญกฤษฎิ์ กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบว่า ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบจากการได้ชมวีดีทัศน์ ในนิทรรศการ “งานสมบรมราชินีนาถ” ที่พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นภาพที่พระราชินีทรงพระดำเนินเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีแสงระยิบระยับจากฉลองพระองค์ชุดไทย สะท้อนภาพความงามในแบบอย่างสตรีไทยให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ทรงจรัสแสงดุจดั่งเพชรน้ำหนึ่งแห่งสยามประเทศ พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับสตรีไทยในทุกยุคทุกสมัย และเป็นแรงบันดาลใจแก่ตนเสมอมา
นายหิรัญกฤษฎิ์กล่าวต่อว่า ชุดนี้ใช้รูปแบบของชุดไทยพระราชนิยมลำดับที่ 8 คือชุดไทยศิวาลัย ซึ่งเป็นมรดกชิ้นสำคัญของชาวไทย อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาประยุกต์เข้ากับเครื่องประดับแบบไทยที่ออกแบบให้ร่วมสมัย สะท้อนความเป็นสากล ด้วยงานปักในแบบเสื้อผ้าชั้นสูง และสร้างสรรค์ลายปักขึ้นใหม่ในรูปแบบอาร์ตเดโค โดยประยุกต์จากงานประดับตกแต่งอย่างไทยในพระบรมมหาราชวัง และงานปักของเลอซาจ ซึ่งปักด้วยวัสดุดั้งเดิม อย่างดิ้นทองผสมกับเพชรของสวารอฟสกี้ เพื่อสื่อถึงศิลปหัตถกรรมชั้นสูงอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ โดย “Jewel of Thailand” คือชุดที่สะท้อนภาพของสตรีไทยที่รักและหวงแหนศิลปวัฒนธรรมไทย และออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมกับ ‘น้ำตาล’ ชลิตา
นายหิรัญกฤษฎิ์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รางวัลชนะเลิศว่า ดีใจที่ได้รางวัลชนะเลิศ ปีนี้ตนก็ชอบทุกชุดที่เข้ารอบสุดท้าย เพราะเป็นชุดที่คณะกรรมการคัดเลือกมาแล้วว่าเหมาะกับน้องน้ำตาล ซึ่งน่าจะเป็นชุดไหนก็ได้ ขอบคุณคณะกรรมการที่เห็นว่าชุดของตนเหมาะสำหรับการประกวดในปีนี้ ในการออกแบบชุดนี้ก็ตั้งใจที่ให้ผู้หญิงไทยทุกคนภูมิใจในความเป็นไทย เมื่อมีความภูมิใจก็สวมใส่ชุดไทยออกมาได้สง่างาม ซึ่งช่วงนี้คนไทยก็รู้จักกับชุดไทยจิตรลดาและอยากมีเป็นของตัวเอง ถือได้ว่าเป็นไปตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงต้องการสืบสานและอนุรักษ์ผ้าไทย ตนก็อยากให้ชุดนี้เป็นต้นแบบของการใส่ชุดไทยของหญิงไทย ตนจะทำชุดนี้ออกมาให้ดีที่สุด น้องน้ำตาลจะสวยที่สุดบนเวทีแน่นอน อยากให้ทุกคนช่วยเชียร์น้องน้ำตาลด้วย