ที่มา: TNN 24

วันนี้ (13พ.ย.58) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ  หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย ว่าสถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกในปี 2558 ที่มีแนวโน้มจะสูงเช่นเดียวกับปี 2556 ที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มสูงกว่า 100,000 ราย เนื่องจากอัตราเฉลี่ยของการระบาดจะอยู่ที่ ปีเว้นปี หรือ ปีเว้น 2 ปี  

โดยความรุนแรงของไข้เลือดออกพบว่า เด็กจะมีความรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่ แต่ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใดบ้าง อาจเกิดจากพันธุกรรม ที่ส่งผลให้บางคนเกิดความรุนแรง หรือขึ้นอยู่กับการดูแลในระยะแรกของผู้ป่วยว่ามีไข้ มีการขาดน้ำหรือมีการรับประทานยาลดไข้ชนิด แอสไพรินหรือไม่ การเป็นไข้เลือดออกโดยปกติ จะสามารถเป็นได้ 2 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 2 จะมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรก เนื่องจากมีการทำปฏิกิริยาต้านทานที่รุนแรงและรวดเร็ว

54

ทั้งนี้ ไข้เลือดออกที่มีความรุนแรงหรือทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการช๊อคได้ เกิดได้จาก 3 กรณี คือ มีอาการน้ำรั่วออกจากหลอดเลือด มีอาการเลือดออก โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหารที่เป็นอันตรายมากที่สุด และ มีอวัยวะบางอย่างล้มเหลว อาทิ ปอด ตับ และไต ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการช๊อค มีเลือดออกและมีอวัยวะบางอย่างล้มเหลว ที่ผ่านมาสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการรักษาและสภาพร่างกายของผู้ป่วย

ส่วนวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกขณะนี้ ยังไม่มีการใช้หรือซื้อขาย เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งพบว่าสามารถนำมาป้องกันได้ถึงร้อยละ 60 และคาดว่าจะสามารถนำมาใช้รักษาได้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

ด้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสเด็งกี่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า หากผู้ป่วยเคยติดเชื้อเด็งกี่สายพันธุ์ใดก็ตาม ก็จะมีภูมิคุ้มกันสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต และมีภูมิคุ้มกันเชื้อสายพันธุ์อื่นในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 เดือน ถึง 2 ปี โดยหลังจาก 2 ปี ได้รับเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่แตกต่าง หรือข้ามสายพันธุ์จากการติดเชื้อครั้งแรก จะทำให้อาการรุนแรง ทำให้เชื้อที่ได้รับจะเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่า รวมถึงสร้างสารพิษของไวรัสเด็งกี่ขึ้นมา ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายหลั่งสารที่ทำให้หลอดเลือดรั่ว และเป็นสาเหตุของการช็อค และติดเชื้อย่างรุนแรง

ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัวเด็งกี่ ได้เสนอภาครัฐให้สนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโลกได้มากกว่า 3.8 พันล้านคน นอกจากนี้ ยังแนะให้ผู้ที่มีไข้ต่ำ ไม่ควรไปบริจาคเลือด เพราะอาจมีเชื้อไวรัสเด็งกี่ ซึ่งมีรายงานว่าในต่างประเทศ มีผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสเด็งกี่จากการรับเลือดที่บริจาค

เรื่องน่าสนใจ