สำนักข่าวเดลี่เมล์รายงานว่าพนักงานบนเครื่องบินโดยสารได้ออกมายื่นคำร้องต่อสายการบินเรื่องคุณภาพของอากาศบนเครื่องบินที่ปนเปื้อนและส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพ
รายงานระบุว่าบรรดาพนักงานปัจจุบันและอดีตที่ต่างกังวลอย่างมากเกี่ยวกับคุณภาพอากาศบนเครื่องบินได้ยื่นคำร้องต่อสายการบินเพื่อให้แก้ไขปัญหา “สภาพอากาศบนเครื่องบิน” อ้างว่าพวกเขาต้องสูดดมอากาศบนเครื่องบินที่เป็นพิษ และทำให้พวกเขาต้องป่วยด้วยอาการ “Aero toxic Syndrome“ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการสูดดมอากาศปนเปื้อนบนเครื่อง
ขณะที่สหภาพพนักงานสายการบิน ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานได้ออกมาพูดให้สายการบินตระหนักและมีมาตรการแก้ไขปัญหานี้ อีกทั้ง ยังกล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์เจ็ทถูกออกแบบให้เครื่องยนต์มีกระบวนการดูดอากาศจากภายนอกให้มาหมุนเวียนภายในส่วนห้องโดยสารซึ่งบางครั้งควันต่างๆภายนอกอาจจะเข้ามาในบริเวณห้องโดยสารได้ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า”ฟูมอีเวนท์”หรือภาวะ”ควันเข้าเครื่องบิน”ที่เป็นสาเหตุของ”อาการ แอโร่ ท็อกซิก ซินโดรม
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้เผยว่า นักบินได้รายงานกรณีเกี่ยวกับควันภายนอกที่เข้ามาในห้องโดยสารและทำให้อากาศเป็นพิษบนเครื่องถึง 167 ครั้งภายใน 4 เดือน มีกรณีร้ายแรงครั้งหนึ่งที่พนักงานบนเครื่องจำนวน 11 คนมีอาการป่วยตลอดเที่ยวบิน โดยมีอาการเวียนหัวเล็กน้อย คลื่นไส้และมีอาการคล้ายเมาคลื่น ซึ่งอาการเหล่านี้มีสาเหตุจากภาวะควันเข้าเครื่องบิน
นอกจากนี้ รายงานยังได้ยกตัวอย่าง กรณีของนายริชาร์ด เวสต์เกท วัย 43 ปี อดีตนักบินสายการบินบริทิชแอร์เวย์ที่เสียชีวิต จากการชันสูตรศพพบว่า นายเวสต์เกตมีอาการปวดหัวเรื้อรัง คลื่นไส้ และอ่อนแรง โดยคาดว่าเกิดจากกลุ่มควันพิษบริเวณที่นั่งคนขับ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีของนายทริสตัน โลเรน อดีตนักบินผู้มีประสบการณ์นานถึง 19 ปี เขาได้กล่าวว่ามีอาการชาที่นิ้วมือและเท้า คลื่นไส้ รวมถึงอาการระคายเคืองบริเวณจมูกเนื่องจากสารเคมี ปัญหาสุขภาพเหล่านี้ แพทย์ได้สันนิษฐานว่าเป็นเพราะควันในเครื่องบินเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สายการบินได้กล่าวว่า “ภาวะควันเข้าเครื่องบิน” มักไม่ค่อยเกิดขึ้น และเชื่อว่าไม่มีหลักฐานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อสุขภาพ โดยโฆษกขององค์การบินพลเรือน กล่าวว่า แม้ว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นน้อยครั้ง แต่ได้มีการตรวจสอบรายงานอย่างจริงจังเพื่อระบุปัญหาเรื่องความปลอดภัยต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ทำการศึกษาประเด็นเรื่องคุณภาพของอากาศในห้องผู้โดยสาร เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปออกมาว่าไม่มีหลักฐานที่จะมายืนยันการเชื่อมโยงระหว่างอากาศที่ปนเปื้อนและผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว