ที่มา: sc.mahidol.ac.th

พยาธิตืดหมู อันตรายที่คออาหารสุกๆ ดิบๆ ต้องระวัง! เพราะทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 ชนิด คือ โรคพยาธิตืดหมูอาศัยอยู่ในลำไส้ ที่เรียกว่าโรค ทีนิเอซีส (Taeniasis) ซึ่งในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นโฮสต์สุดท้ายหรือโฮสต์จำเพาะ (Final host หรือ definitive host) และ โรคที่มีพยาธิตัวอ่อนในถุงน้ำ หรือที่เรียกว่า ซีสต์เม็ดสาคู

 

พยาธิตืดหมู
ภาพจาก Kwang Volemage

โรคพยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) เกิดจากพยาธิตืดหมูชื่อที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenia solium เป็นพยาธิตัวแบนซึ่งเป็นกระเทย (Hermaphrodite) เนื่องจากมีอวัยวะเพศผู้และเพศเมียอยู่ในปล้องเดียวกัน ตัวเต็มวัยมีลักษณะเป็นปล้องแบน (Proglottid) ต่อเป็นสายยาวเป็นเมตร เหตุที่ชื่อว่าพยาธิตืดหมูเนื่องจากมีหมูเป็นเป็นโฮสต์ตัวกลาง

 

พยาธิตืดหมู ทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 ชนิด คือโรคทีนิเอซีส (Taeniasis) และโรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis) โรคดังกล่าวพบได้ทั่วโลก โดยพบได้บ่อยในประเทศด้อยพัฒนา และในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงทุกแหล่งที่มีการสาธารณสุขที่ไม่ดี การติดเชื้อพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและในผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกัน พบมากในคนที่ชอบทานหมูสุกๆ ดิบๆ หรือทานผักสดที่ล้างไม่สะอาด ในประเทศไทยพบมากแถบภาคอิสานเนื่องจากทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ น้ำตก หมู แหนม ผักสด ผลไม้สด กันเป็นประจำ

 

พยาธิตืดหมู

อาการแสดงออกของโรค

โรคพยาธิตืดหมูในลำไส้ (Taeniasis )
พยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้ จะแย่งอาหาร ทำให้เราทานอาหารเก่ง หิวบ่อยแต่ผอมลง น้ำหนักลด นอกจากนั้น อาจจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระบ่อย เนื่องจากเกิดจากการระคายเคืองต่อลำไส้

โรคที่มีซีสต์ของพยาธิตืดหมูที่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย (Cysticercosis )
ถ้าเราทานไข่พยาธิตืดหมูที่ติดตามผัก ผลไม้ เราก็จะทำหน้าที่เป็นโฮสต์ตัวกลางเหมือนหมู พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่ แล้วไชทะลุลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด หรือน้ำเหลือง ไปยังกล้ามเนื้อหรืออวัยวะต่างๆ เช่น เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง ไขสันหลัง ตา หัวใจ ตับ ปอด โดยเจริญไปเป็นระยะถุงซีสต์ เรียกว่า ซีสติเซอร์คัส (Cysticercus) ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่มีส่วนหัว (Scolex) และส่วนคอ (Neck) อยู่ตรงกลางในถุงน้ำเล็กๆ ทำให้มีรูปร่างเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ จึงเรียกว่า พยาธิเม็ดสาคูในเนื้อหมู หรือซีสต์เม็ดสาคูในเนื้อหมู ถ้าอยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติหรือตาบอด เรียกโรคนี้ว่า โรคซีสติเซอร์โคซีส (Cysticercosis) แต่ถ้าซิสต์นี้เกิดขึ้นในเนื้อสมอง ก็อาจทำให้เกิดอาการชัก มือและเท้าชา เป็นลม วิงเวียน หรืออาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลัง ทำให้ความดันในสมองสูง ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด เรียกว่า โรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีส (Neurocysticercosis) ถ้าผู้ป่วยเป็นมากอาจเสียชีวิตได้ 

 

พยาธิตืดหมู

การติดต่อของพยาธิตืดหมู

  • จากการดื่ม หรือทานอาหารที่มีไข่ของพยาธิ เช่น ผัก ผลไม้ ที่ผลิตผลอยู่บนดินหรือมีหัวอยู่ในดิน เช่น สตรอเบอรี่ แครอท หัวไชเท้า รวมทั้งพืชผักที่ใช้อุจจระของคนเป็นปุ๋ย เป็นต้น
  • จากการทานตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในกล้ามเนื้อของหมู ซึ่งทำเป็นอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ หมู น้ำตก แหนมดิบ เป็นต้น
  • จากการที่ขย้อนปล้องสุกเข้าสู่กระเพาะ ทำให้เหมือนเรากินไข่พยาธิเข้าไปกับอาหาร
  • จากการที่ผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ ใช้มือล้างหรือเกาบริเวณทวารหนัก แล้วมีไข่พยาธิที่มาติดอยู่บริเวณนั้นติดนิ้วมือไป ถ้าผู้ป่วยไม่ล้างมือ แล้วใช้มือจับอาหารเข้าปากหรืออมนิ้ว ก็จะได้ไข่พยาธิเข้าปากของตัวเอง โดยไม่ไปผ่านการเจริญเป็นซีสติเซอร์คัสในหมู ในกรณีนี้ เราจะทำหน้าที่เหมือนโฮสต์ตัวกลาง (Intermediate host) แทนหมูนั่นเอง การติดต่อวิธีนี้เกิดจากไดัรับไข่พยาธิจากอุจจระเข้าสู่ปากโดยตรง (Fecal-oral route) หรือติดเชื้อซ้ำโดยตนเอง (Autoinfection)

 

พยาธิตืดหมู

การรักษา

ในคนที่มีซีสต์พยาธิตัวตืดในอวัยวะต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ถ้าไม่มีอาการ แต่ถ้าเป็นที่สมองและมีอาการ เช่น ชัก ปวดศีรษะมาก อาจต้องให้ยารักษา หรือผ่าตัดตามความเหมาะสม ซึ่งยาที่ใช้รักษาคือยา พราซิควอนเทล (Praziquantel) โดยให้ในขนาด 50 มก./กก/วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือให้ยาอัลเบลดาโซล (Albendazole) ในขนาด 15 มก./กก/วัน แบ่งให้วันละ 2-3 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือการผ่าตัดเอาซีสต์ออกจากกล้ามเนื้อ จากสมอง หรือจากไขสันหลัง ถ้าเป็นโรคพยาธิในลำไส้ ใช้ยานิโคลซาไมด์ (Niclosamide) ขนาด 0.5 กรัม ขนาดที่ใช้คือให้ 4 เม็ดเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน และให้ยาระบายร่วมด้วย ยาระบายจะให้หลังจากให้ยาฆ่าพยาธิแล้ว หรืออาจใช้ยาอัลเบลดาโซล หรือพราซิควอนเทล ก็ได้

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคพยาธิตืดหมู

ทานยากำจัดพยาธิตามที่แพทย์สั่งจนครบ ไม่ทานเนื้อหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ล้างผักสดให้สะอาดอย่างดีก่อนทาน ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนทานอาหาร ไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อการตรวจวินิจฉัยว่าโรคหายแล้ว และไม่มีการติดเชื้อซ้ำ

•••••••••••••••••••••••••••••••••••••••

การป้องกันการติดโรคพยาธิตืดหมู สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เราต้องถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ อย่าถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน เพราะเป็นการทำให้ไข่อยู่ในดินและหมูมากินเข้าไปได้ ไม่กินเนื้อหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบดิบ ลู่ แหนมสด เวลาซื้อเนื้อหมูต้องคอยสังเกตดูให้ดี ถ้าพบลักษณะมีตุ่มขาวเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ในเนื้อหมู ไม่ควรนำมาทาน ล้างมือให้สะอาด โดยฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ตนเองและผู้อื่นค่ะ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ